WHO ได้คัดเลือกสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ของไทย เพื่อใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2567 สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้
- สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่เข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขไทย
- ที่มีต่อความมั่นคงทางสุขภาพของประชากรโลก
- ที่ต้องการให้การควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก มักพบการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ในเขตซีกโลกเหนือระบาดมากในช่วงฤดูหนาว ส่วนซีกโลกใต้ระบาดมากในฤดูฝน พบไข้หวัดใหญ่ A(H3N2), A(H1N1) และ B เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จากผลการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จนถึงปัจจุบัน พบ A (H1N1) มีสัดส่วน 56.94% A (H3N2) 95.08% และ B 100%
สำหรับประเทศไทยการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2) มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 66.42% รองลงมาคือสายพันธุ์ B 19.32% ในขณะที่สายพันธุ์ A/H1N1 มีสัดส่วน 14.26% สำหรับสายพันธุ์ B ที่พบในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ Victoria ทั้งหมด เช่นเดียวกับที่พบทั่วโลกขณะนี้
ทั้งนี้จากข้อมูลการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยของศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิค Whole genome sequencing (WGS) วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม และประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุขฉีดให้กับประชาชน พบว่าสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ตรวจพบในประเทศไทยมีความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนที่ฉีดและสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า จากการประชุมคัดเลือกสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ เพื่อนำไปใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2567 สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้ ระหว่างวันที่ 25-28 กันยายน 2566 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สมาชิกห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั่วโลก และบริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้คัดเลือกสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ โดย 1 ใน 3 สายพันธุ์ เป็นเชื้อที่แยกได้จากระบบเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ของประเทศไทย จากความร่วมมือของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค โรงพยาบาลเครือข่ายและศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการเฝ้าระวังสายพันธุ์ การกลายพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิม การดื้อยาของเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก มาอย่างต่อเนื่อง และรายงานผลการเฝ้าระวังทุกสัปดาห์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ WHO ในฐานะสมาชิกเครือข่าย เพื่อวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคได้ทันสถานการณ์
“จากการที่สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ ที่ตรวจพบในประเทศไทย ได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์ประกอบในวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2567 เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือและบทบาทที่เข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขไทยที่มีต่อความมั่นคงทางสุขภาพของประชากรโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของระบบสาธารณสุข ที่ต้องการให้การควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและลดอัตราการป่วย การเสียชีวิตของประชากรไทยและประชากรโลก”