- มาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตถุงมือทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก
- ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายEconomic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์และประเมินอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงมือทางการแพทย์ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการถุงมือทางการแพทย์ของโลกในปี 2020 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในช่วงปี 2010-2019 การขยายตัวของความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนทั้งจากการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก รวมถึงถุงมือยางยังเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์การใช้งานของโลก ทั้งการใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และการใช้ในภาคสาธารณสุข ซึ่งสะท้อนการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศต่าง ๆ
ทั้งนี้ถุงมือยางเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย โดยสร้างรายได้เข้าประเทศถึงราว 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ทั้งนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในวงกว้างไปทั่วโลก ถือเป็นช่วงเวลาทองของไทยในการส่งออกถุงมือยาง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 มูลค่าการส่งออกถุงมือยางไทยเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 449 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16% จากช่วงเดียวกันของปี 2019
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้มาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตถุงมือทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีกำลังการผลิตถุงมือทางการแพทย์125,000 ล้านชิ้น/ปี โดยในปี 2019 มีการผลิตจริง 63,000 ล้านชิ้น สะท้อนศักยภาพในการผลิตเพิ่มได้อีกมาก ขณะที่กำลังการผลิตของไทยอยู่ที่ 25,000 ล้านชิ้น/ปี โดยในปี 2019 ผลิตจริงคิดเป็น 85% ของกำลังการผลิตรวม โดย EIC มองว่า หากทั้ง 2 ประเทศเร่งผลิต
ถุงมือทางการแพทย์เต็มกำลังการผลิตแล้ว จะส่งผลให้มาเลเซียได้อานิสงส์มากกว่าไทย เนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตเพื่อป้อนตลาดโลกได้มากกว่า
ขณะเดียวกัน ไทยยังได้รับอานิสงส์ทางอ้อมเพิ่มเติมจากการส่งออกน้ำยางข้นให้มาเลเซีย เพื่อนำไปผลิตถุงมือทางการแพทย์ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 มูลค่าการส่งออกน้ำยางข้นจากไทยไปมาเลเซียอยู่ที่ 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7% จากช่วงเดียวกันของปี 2019 ทั้งนี้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงแพร่กระจายในวงกว้างทั่วโลก จะส่งผลให้มาเลเซียยังคงมีความต้องการนำเข้าน้ำยางข้นจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำยางข้นเป็นการส่งออกสินค้ากลางน้ำ ซึ่งยังไม่ถูกพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มมากนัก ขณะที่มาเลเซียนำน้ำยางข้นที่นำเข้าจากไทยไปผลิตถุงมือยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องสูญเสียไปจากการที่ไทยไม่สามารถ แปรรูปน้ำยางข้นไปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยาง รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในระดับต้นน้ำอย่างผู้ผลิตน้ำยางข้นสามารถยกระดับไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำอย่างถุงมือยาง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC :https://www.scbeic.com/th/detail/product/6856