

- เพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน
- หลังรัฐต้องการเสริมสภาพคล่องให้แก่ประชาชน-ธุรกิจ
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยยอดการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(แบงก์รัฐ)ในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19หรือนับตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน โดยสินเชื่อรวมของแบงก์รัฐมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และมีการขยายตัวสูงสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ที่ 6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจาก ในช่วงระหว่างเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 รัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมระยะที่ 1-3 และได้มีมาตรการอื่นๆที่ออกระหว่างปี 2563 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตามสินเชื่อได้ปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และต่อเนื่องมาถึงเดือนก.พ.2564 ซึ่งเกิดจากการชำระคืนของสินเชื่อที่ครบกำหนดจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
สำหรับสินเชื่อในไตรมาสหนึ่งปี 2563 มีจำนวน 5.79 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.52%จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากนั้น ขยายตัวสูงสุดไตรมาสสอง จำนวน 6.0 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.94% และเริ่มลดลงในไตรมาสสาม จำนวนน 5.91 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.87% ไตรมาสสี่ จำนวน 5.96 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.83% ต่อมาในเดือนม.ค.2564 และก.พ.2564 เริ่มทรงตัวที่ประมาณ 6 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 3.76%ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับมาตรการของแบงก์รัฐที่ดำเนินการในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19นั้น เริ่มจากเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 ประกอบด้วย 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ทั้งทางตรงและทางอ้อมวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท มียอดอนุมัติสินเชื่อไปจำนวน 141,000 ล้านบาท 2.พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ขณะนี้ มียอดอนุมัติ 135,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้แบ่งเป็นสินเชื่อฉุกเฉินวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแห่งละ 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติมวงเงิน 2,100 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ขณะนี้ อนุมัติเต็มวงเงินแล้ว และ โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย 10,000 ล้านบาท ขณะนี้ อนุมัติแล้ว 6,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในเดือนส.ค.2563 ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 12,800 ล้านบาท ขณะนี้ อนุมัติแล้วจำนวน 12,600 ล้านบาท และ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทยวงเงิน 5,000 ล้านบาท ขณะนี้ อนุมัติแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท