แชร์มุมมองเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ชูวัฒนธรรมกินดื่ม หนุนเศรษฐกิจได้จริงหรือ



เหล่ากูรูนายแพทย์ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ร่วมแชร์มุมมองมิติใหม่เที่ยวไทย กับวัฒนธรรมกินดื่ม ไขข้อสงสัยขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 ช่วยหนุนท่องเที่ยว-เศรษฐกิจโตได้จริงหรือไม่ ด้านผู้ประกอบคาดนโยบายนี้จะช่วยให้เม็ดเงินสะพัดในพัทยาเพิ่มกว่า 40%

  • ททท. เผยยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่เข้าไทยแล้ว 23.45 ล้านคน
  • แนะรัฐบาลต้องเปิดรับฟังความเห็นให้รอบด้าน-ทุกมิติ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • ด้านผู้ประกอบการวอนรัฐขยายโซนนิ่ง ชี้จะช่วยให้ตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อผู้มาเที่ยวได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวเออีซี 10 นิวส์ ได้จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “มิติใหม่ เที่ยวไทย กับวัฒนธรรมกินดื่ม” ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยภายในงานเสวนาได้มี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ร่วมปาฐกถาในหัวข้อ “นักท่องเที่ยวกับวัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์ และผลกระทบต่อสังคม พร้อมด้วย นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปาฐกถาในหัวข้อ “กระแสและแนวโน้มการท่องเที่ยวไทย” อีกทั้งภายในงานยังแบบช่วงเป็นวงเสวนาภายใต้หัวข้อ “มิติใหม่ เที่ยวไทย กับวัฒนธรรมกินดื่ม” โดยมี รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางด้านกฎหมาย ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และนายดำรงค์เกียรติ พินิจการ เลขานุการสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิง และการท่องเที่ยวเมืองพัทยา มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ได้เริ่มปาฐกถา “มิติใหม่เที่ยวไทย กับวัฒนธรรมกินดื่ม” หัวข้อ “นักท่องเที่ยวกับวัฒนธรรมการดื่มและสังสรรค์ และผลกระทบต่อสังคมว่าปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่มีมุมมองเกี่ยวกับการดื่มรังสรรค์ที่เปิดกว้างมากขึ้น และคนรุ่นใหม่ยังหันมาให้ความสำคัญต่อการออกกำลังกายในรูปแบบที่ตนชื่นชอบ โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องการดื่มไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผิด แต่ผู้ดื่มควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม ดื่มแต่พอดี

นอกจากนี้ ในหลายๆ สังคม ก็ให้การยอมรับในเรื่องการดื่มมาเป็นเวลาช้านาน บ้างที่การดื่มอาจเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มเพื่อฉลองชัยชนะ ดื่มเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ ซึ่งก็จะเป็นการดื่มที่ไม่มากเกินไป

“สำหรับความเห็นส่วนตัวต่อนโยบายการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงใน 4 จังหวัดประกอบด้วย กรุงเทพฯ ชลบุรีเชียงใหม่ และภูเก็ต ขยายเวลาปิดไปถึงตี 4 ส่วนตัวมอว่ามีความเหมาะสมต่อบริบทของสังคมยุคใหม่ และเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้จากการที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงควบคู่ไปกับผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย สังคม ศาสนา ร่วมอยู่ด้วย โดยทางรัฐบาล แพทย์ ครู ก็ต้องช่วยรณรงค์ ให้ความรู้ กับวัฒนธรรมการกินดื่มอย่างถูกต้อง อาทิ ไม่ควรมีวัฒนธรรมการดื่มว่าดื่มแล้วต้องหมด ดื่มแล้วต้องเมา ควรเปลี่ยนเป็นดื่มแต่พอประมาณมากกว่า” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.นายแพทย์กระแส กล่าว

ท้ายสุด ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.นายแพทย์กระแส กล่าวด้วยว่า เรื่องการขยายเวลาเปิดสถานบริการเป็นความจำเป็นตามสถานการณ์ แต่ก็อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญรับฟังมุมมองของประชาชนที่มองต่างออกไปด้วย เพื่อนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาปรับใช้ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด เพราะหากรัฐบาลมีกฎควบคุมการดื่มที่เข้มงวดเกินไป ก็อาจจะก่อให้เกิดการลักลอบแอบขายเครื่อองดื่ม ซึ่งต้องยอมรับว่าในจุดนี้เป็นอะไรที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้นจึงขอให้กำลังใจรัฐบาลลุยเดินหน้าเรื่องนี้โดยยึดหลักความเป็นจริงในสังคม และคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างรอบด้านและรอบคอบ

ด้านนายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “กระแสและแนวโน้มการท่องเที่ยวไทย” ว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีรายได้เข้าประเทศรวมกว่าปีละ 1.23 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 641,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 189 ล้านคน/ครั้ง เฉลี่ยการใช้จ่ายต่อคนที่ 4,100 บาทต่อทริป และรายได้จากตลาดต่างประเทศ 589,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 11.15 ล้านคน เฉลี่ยการใช้จ่ายต่อคนที่ 62,580 บาทต่อทริป โดยในปี 2566 สถานการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-18 พ.ย.66 มีจำนวนแล้วกว่า 23.45 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย ตามลำดับ

ทั้งนี้ สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่มีข้อเสนอ ให้ขยายเวลาการเปิดสถานบริการผับบาร์ ขยายจากเวลาเที่ยงคืน ให้ไปปิดตี 4 ในบางพื้นที่ รวมถึงนโยบายที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น การเปิดวีซ่าฟรีในหลายๆ ประเทศ มองว่าเป็นนโยบายที่ดี มีส่วนช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ไทย ทำให้เกิดการใช้จ่ายได้เพิ่ม รวมถึงยยังช่วยสร้างความมั่นใจให้ชาวต่างชาติที่ต้องการกลับมาท่องเที่ยวไยได้อีกครั้ง

นายฉัททันต์ กล่าวต่อว่า ในปี 66 ทาง ททท. ได้วางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25-30 ล้านคน เป้ารายได้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยอดนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยทะลุ 25 ล้านคนแล้ว ซึ่งเหลือเวลาอีกเดือนกว่าๆ ก็ต้องมาลุ้นมายอดรวมจะถึง 30 ล้านคนหรือไม่ ด้านนักท่องเที่ยวในประเทศประเมินการเดินทางในประเทศที่ 135 ล้านเที่ยว เป้ารายได้ที่ 880,000 ล้านบาท

“ปัจจุบันเทรนด์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปัจจุบัน จะมองหาประเทศหรือสถานที่เที่ยวที่สามารถมอบประสบการณ์อันแปลกใหม่ที่เขาไม่สามารถหาได้จากที่อื่น รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การมารักษาตัวดูแลสุขภาพร่างกาย ก็เป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเร่งผลักดันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ททท. ได้ตั้งเป้าหมายการสนับสนุนท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับทำงานให้เกิดGreatest Change ด้วย Soft Power of Thailand ตามแนวทาง 5F คือ Food Film Fashion Festival Fight เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพมีการใช้จ่ายต่อคนที่สูง รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้หลักInclusive Tourism เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แบบ 4-2-2 คือ 4 Personas (ประชากรโลกผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ) 2 Demographic (Millennials และ Active Senior) 2 Behavior (Medical & Wellness และ Responsible Tourism)

นอกจากนี้ ยังได้วางโมเดล “DASH” เป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ D – Domestic Travel ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ A – Accelerate Demand กระตุ้นอุปสงค์เชิงคุณภาพ S – Shape Supply ยกระดับระบบนิเวศท่องเที่ยวสู่ความมีคุณภาพและความยั่งยืน และ H – Healing Thai Economy ฟื้นประเทศด้วยการท่องเที่ยว เยียวยาเศรษฐกิจ ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ลุกเร็ว ก้าวไว

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางด้านกฎหมาย กล่าวในงานเสวนาภายใต้หัวข้อมิติใหม่เที่ยวไทย กับวัฒนธรรมกินดื่ม ว่า มีข้อสังเกตถึงนโยบายการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ว่า ต้องถามว่ารัฐบาลมีการศึกษานโยบายนี้มาแล้วก่อนตัดสินใจทำหรือยัง ทั้งในส่วนของข้อดีข้อเสีย สาเหตุที่เลือกเฉพาะพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด กรุงเทพฯ ชลบุรีเชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการทำหวังผลทางการเมืองหรือไม่ เพราะทั้ง 4 พื้นที่นี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้แพ้การเลือกตั้งมาทั้งหมด สิ่งสำคัญคืออยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เช่น ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เชื่อมโยง อย่างความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายหรือไม่

“หากรัฐบาลศึกษาแล้วว่าเป็นนโยบายที่ดีคุ้มค่า มีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยได้จริง ก็สามารถเปิดมากกว่าแค่4 จังหวัดได้ แต่หากรัฐบาลยังไม่ได้ทำ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบเปิดในเดือน ธ.ค.นี้ สามารถทยอยเปิดทีหลังได้” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องโฆษณาโปรโมทเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยด้วยการชวนมากินดื่มอย่างเดียวก็ได้ เนื่องด้วยประเทศไทยเองก็มีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นซอฟท์ พาวเวอร์ ที่ดีว่าแค่การชวนเขาเหล่านั้นมาเพื่อแค่การกินดื่ม ซึ่งหากผลักดันเรื่องเหล่านี้จริงจัง ก็เชื่อว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีกว่า เพียงแค่การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง

ด้าน ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายขยายเวลาสถานบันเทิงถึงตี 4 ว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ต้องเริ่มจากจำกัดและกำหนดเป็นพื้นที่โซนนิงก่อน หากได้ผลดีแล้วค่อยดำเนินการขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ สิ่งที่อยากเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาตอนนี้คือ วัฒนธรรมการดื่มของผู้มีรายได้น้อย ที่เข้าถึงการบริโภคสุราราคาถูกได้ง่าย จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายตามมาทั้งในด้านสุขภาพ สังคม และงบประมาณเพื่อการดูแลรักษาเนื่องจากทุกวันนี้โครงสร้างภาษีสุรายังมีความลักลั่นอยู่ โดยเฉพาะสุราขาวบ้างยี่ห้อที่มีราคาขายเริ่มต้นเพียงขวดละ110 บาท แต่ดีกรีความเมากับสูงมากถึง 40 ดีกรี

ทั้งนี้ รัฐบาลควรพิจารณาขึ้นภาษีกลุ่มสุราราคาถูก โดยเฉพาะสุราขาวให้ราคาสูงขึ้น เพื่อช่วยลดปริมาณการดื่มของคน เพราะทุกวันนี้สุราขาวมีดีกรีสูงสุดแต่กลับถูกเก็บภาษีต่ำสุด เรียกเก็บภาษีตามมูลค่า เพียง 2% ถูกกว่าเบียร์ที่เสียถึง 22% ไวน์ที่ร 10% สุราแช่ผลไม้ 10% รวมถึงภาษีที่เก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ ก็ควรขึ้นเพราะปัจจุบันสุราขาว40 ดีกรี เสียภาษีขวด 60 บาท ถูกกว่าไวน์ที่เก็บขวด 150-200 บาท

นายดำรงค์เกียรติ พินิจการ เลขานุการสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิง และการท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวว่า การขอขยายเวลาปิดสถานบันเทิง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการพยายามขอมาตลอด เพราะทุกวันนี้การแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือว่าสูงมาก หลายประเทศอย่างสิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือยุโรป ค่อนข้างผ่อนปรนเปิดได้ถึง 6 โมงเช้า ซึ่งก็ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดีกว่า โดยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่พบ ส่วนใหญ่จะนิยมวางแผนเที่ยวแบบช่วงหัวค่ำออกมารับประทาน จากนั้นหาผับบาร์นั่งดื่ม และเปิดท้ายด้วยการเข้าสถานบันเทิงเที่ยวพักผ่อน

“อยากให้รัฐบาลขยายโซนนิ่งเมืองพัทยา เพราะกฎหมายครั้งล่าสุดจัดทำมาตั้งแต่ปี 45 ซึ่งปัจจุบันเมืองพัทยาเติบโตขึ้นมาก ซึ่งหากยังกำหนดพื้นที่โซนนิ่งสถานบริการยังเท่าเดิม ก็จะเกิดปัญหาในการแอบเปิดสถานบันเทิงนอกโซนนิ่งจุดนี้ทางสมาคมก็จะเข้าไปตรวจสอบดูแลได้ยากว่าสถานบริการนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้มาเที่ยวหรือไม่ วันนี้ผู้ประกอบการสถานบันเทิงในพื้นที่พัทยา พร้อมเต็มที่ที่จะขยายเวลาเปิดถึงตี 4 เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ แต่ก็ต้องมาหารือกันว่าจะมีกำหนดแนวทางอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับภาครัฐ ผู้ประกอบการ สังคมชุมชนในพื้นที่รวมถึงไม่ให้กระทบต่อสังคมโดยรวม ทั้งนี้คาดการณ์เบื้องต้นว่า หากขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจะทำให้ธุรกิจในพัทยา มีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30-40%” นายดำรงค์เกียรติ กล่าว