“เศรษฐา”หนุนแนวคิดผู้ว่า ธปท.กู้เงิน 1 ล้านล้าน กลบหลุมรายได้-อัดสภาพคล่องเข้าระบบ



วันที่ 20 ส.ค.2564 นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI กล่าวว่า ย้อนหลังกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันขึ้นดำรงตำแหน่ง (นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)

ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ว่า ธปท คนก่อน (นายวิรไท สันติประภพ) พูดถึงความกดดันในการตัดสินใจเชิงนโยบายของ ธปท ที่ท่านบอกว่า “เป็นเรื่องที่นักธนาคารกลางต้องเผชิญตลอด” เพราะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ต่างวาระกันไป รวมถึงการเห็นแย้งกันระหว่างฝั่งของรัฐบาลกับ ธปท ว่าเป็นเรื่องปกติที่แม้สองฝ่ายจะมีเจตนาดีทั้งคู่ แต่ย่อมมีความขัดแย้งกันบนบทบาทของตัวเองเป็นที่ตั้ง

เพราะนักการเมืองที่มีวาระแค่ 4 ปีในการบริหารประเทศต้องการสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ในขณะที่ ธปท มีหน้าที่กำหนด ควบคุม กำกับนโยบายการเงินเพื่อสร้างเสถียรภาพระยะยาว

ในสถานการณ์ปกติก็ว่ากันไป เพราะเรามีเวลา วิเคราะห์ ชั่งน้ำหนักให้เหตุผล และถกเถียงกันได้นาน แต่ในสถานการณ์โควิดที่เราไม่เคยเจอมาก่อนและยังไม่เห็นทางสว่างปลายอุโมงค์ นี่เป็นวิกฤติเปลี่ยนโลกที่ทุกฝ่ายต้องตัดสินใจให้รวดเร็วแม้จะวิเคราะห์ผลได้ผลเสียไม่ครบ 100% รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลลัพธ์ของการตัดสินใจนั้นๆ ให้ได้ แม้ผลจะออกอย่างที่เราคาดหรือไม่ก็ตาม

วิกฤติครั้งนี้เราได้เห็นหลายตัวอย่างของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่ออกมาดำเนินบทบาทเชิงรุกอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งผมคิดว่าคงได้บทเรียนจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ช่วง 2008-2009 ที่ถูกตำหนิว่าขยับตัวช้าจนเกินการณ์ มีการควักเครื่องมือต่างๆ ออกมาสนับสนุนสถาบันการเงินมากมายเพื่อให้พวกเค้าสามารถประคองธุรกิจเล็กใหญ่ให้รอดพ้นสถานการณ์ไปได้ มีการแทรกแซงนโยบายทางการเงิน มีการเลื่อนใช้ข้อบังคับบางประการออกไปก่อน หรือแม้กระทั่งการผ่อนคลายความคาดหวังมาตรการทางบัญชีบางอย่าง กระสุนทุกอย่างถูกนำมาใช้หมด ณ ตอนนี้

อย่างเรื่องของการปรับเพดานดอกเบี้ย มองย้อนไปช่วงปีที่แล้ว ช่วงที่หลายๆ ประเทศเจอโควิดหนักๆ ธนาคารกลางหลายแห่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาต่ำเป็นพิเศษ หลายประเทศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนติดขอบล่าง และใช้มาตรการทางการเงินพิเศษ เพื่อผ่อนคลายต้นทุนการกู้ยืมเงิน ช่วยบรรเทาพิษโควิดต่อเศรษฐกิจ ดูอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50 – 1.75% ลงมาอย่างรวดเร็วจนเหลือ 0- 0.25% ภายในเดือน มี.ค. 63 ทันทีที่เห็นว่าสถานการณ์โควิดเริ่มระบาดรุนแรงเมื่อต้นปีที่แล้วเป็นตัวอย่าง พร้อมกับออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเกือบ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่มีการอัดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญไปพร้อมๆ กัน

ในขณะที่ประเทศไทยเองมีเสียงเรียกร้องมาโดยตลอดว่าให้ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อลดภาระของผู้กู้ แต่ทาง ธปท. ก็ยังยืนกรานว่าต้องมองอย่างรอบด้าน แม้ประชุมล่าสุด กนง เองเริ่มเสียงแตก 2 ใน 7 ว่าอยากให้ลดดอกเบี้ยแล้ว แต่เสียงส่วนน้อยยังแพ้ส่วนมาก กว่าจะได้ลุ้นประชุมครั้งต่อไปเรื่องปรับดอกเบี้ย เงินก็ออกจากกระเป๋าคนไปอีกเท่าไหร่แล้ว

แต่ก็ยังมีความหวังครับที่ได้เห็นผู้ว่า ธปท คนปัจจุบันออกมาพูดชี้นำเมื่อกลางเดือน ถือว่าได้ใจผมพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของการแนะว่ารัฐบาลควรต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อใส่เข้าในระบบอีกอย่างต่ำ 1 ล้านล้านบาทเพื่อเร่งกลบหลุมรายได้ที่จะหายไป โดยท่านก็ได้ให้เหตุผลเพื่อคลายความกังวลไว้ชัดเจนว่า “การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม” ซึ่งก็เป็นการตอกย้ำกับหลายๆ เสียงรวมผมเองด้วยที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้

และที่ช่วยเป็นการสร้าง ความหวัง ให้กับผู้ประกอบการทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างก็คือมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดภาระผ่อนชำระหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันชั่วคราว ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นกิจการโรงแรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจท่องเที่ยวอุตสาหกรรมหลักของ GDP ไทยที่โดนอย่างจัง รวมถึงกิจการอื่นๆ เช่น โรงงาน ร้านอาหาร รวมทั้งมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ที่เป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าสำหรับลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์

ท่านผู้ว่า ธปท ได้ทิ้งท้ายไว้ถึงมาตรการก็อกสองที่ออกมาแล้วน่าจะช่วยได้จริง อย่างคอนเซ็ปต์ “ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ” ที่จะปรับภาระการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วให้ทันการณ์ ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตั้งตารอว่าแอ็คชั่นแพลนที่ชัดเจนจะออกมาเมื่อไหร่ ก็หวังว่าคงไม่ช้าเกินการณ์เหมือนกรณีการปรับเพดานดอกเบี้ยนะครับ

อย่างที่บอก ผมว่าเป็นเรื่องดีมากๆ ที่เห็นท่านผู้ว่า ธปท ออกมาพูด นำเสนอ และชี้นำ แนวคิดใหม่ๆ เพื่อช่วยกันผลักดันมาตรการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจองค์รวม ท่านเป็นหนึ่งเสียงที่มีน้ำหนักพอที่รัฐบาลควรจะให้ความสนใจรับฟัง และนำไปพิจารณา แต่ขอฝากไว้อีกนิดเดียวครับ นโยบายการเงินที่ ธปท ดูแลก็อยากให้มีการตัดสินใจที่รวดเร็ว ฉับไว เกิดเป็นแอคชั่นได้ทันที รวมถึงการชี้นำแอ็คชั่นของรัฐบาลในด้านนโยบายการคลังอยากให้ท่านจี้ลงรายละเอียด แนะนำแอ็คชั่นในมุมของท่านเลย ตอนนี้เราอยู่ในสงครามแล้ว ผมคิดว่าไม่มีทางเลือก ต้องถือเป็นหน้าที่และบทบาทของ ธปท ที่จะก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง เพราะทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาดครับ