เปิดทางผู้ใช้ “ฟิล์มบีโอพีพี” ยื่นข้อมูลความเสียหาย ก่อนเก็บภาษีเอดี



.ย้ำฟังความเห็นผู้ผลิต-ผู้ใช้อย่างครบถ้วนรอบด้านที่สุด

.หลัง “มาม่า” โอดเก็บภาษีเอดีทำต้นทุนพุ่งซองละ 50 สต.

.ถ้ารับภาระไม่ไหวอาจขึ้นราคาขายมาม่า-คนกินเดือดร้อน

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดไต่สวนการทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน (ฟิล์มบีโอพีพี) ที่นำเข้าจากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวของไทยร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า โดยได้รับฟังความคิดเห็นทั้งจากผู้ประกอบการ และผู้ใช้ในประเทศไปแล้วบางส่วน ขณะนี้  ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สินค้าดังกล่าวทุกกลุ่ม ทั้งบรรจุภัณฑ์อาหาร ยา เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ที่เห็นว่าจะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีเอดี สามารถยื่นรายละเอียดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาให้กรมพิจารณาได้ 

“อย่างล่าสุด ที่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยี่ห้อมาม่า บอกว่า หีบห่อที่ใช้บรรจุบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะได้รับผลกระทบ ถ้าขึ้นภาษีเอดีแล้ว จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น กรมก็ขอให้มาม่ายื่นรายละเอียดผลกระทบมาว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของกรมอยู่แล้ว ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน และยังจะทำให้รัฐมีข้อมูลในการพิจารณาครบทุกภาคส่วน โดยอุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์อื่นๆ ก็สามารถยื่นผลกระทบมาได้เช่นกัน กรมพร้อมรับฟัง” 

นายกีรติ กล่าวว่า การยื่นรายละเอียดผลกระทบ จะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมเอง เพราะผลกระทบต่างๆ จะใช้ประกอบการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) พิจารณาว่าจะประกาศเรียกเก็บเอดีหรือไม่ โดยตามพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ได้เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 7 ว่า การใช้มาตรการเอดี ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณประกอบกัน 

ด้านนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาเปิดไต่สวนเอดีฟิล์มบีโอพีพี ตามที่ผู้ผลิตในประเทศร้อง เพราะหากเก็บภาษีเอดีจะเกิดผลกระทบในวงกว้างกับทุกอุตสาหกรรมที่ใช้ฟิล์มบีโอพีพี เป็นวัตถุดิบ หรืออย่างมาม่า จะมีต้นทุนสูงขึ้น จากปัจจุบันมีต้นทุนหีบห่อ 10% ของต้นทุนรวม หรือ 0.50 บาทต่อซองและหากเก็บภาษีเอดีจริง จะทำให้แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว

“ตอนนี้ ต้นทุนการผลิตอื่นๆ ก็สูงขึ้นหมด แต่ยังขายในราคาต่ำ หากสุดท้าย รับภาระไม่ได้จริงๆ ก็อาจต้องปรับขึ้นราคาขาย และอาจทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนได้ หากกระทรวงพาณิชย์ต้องการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากฟิล์มนำเข้า แต่ก็อาจทำให้อุตสาหกรรมอื่นที่ใช้ฟิล์มเป็นวัตถุดิบ และผู้บริโภค ได้รับผลกระทบได้ อยากให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย”