เปิดขั้นตอน “เลือกตั้งล่วงหน้า” รู้ไว้ก่อนใช้สิทธิ 7 พ.ค.นี้

แฟ้มภาพ


วันที่ 7 พ.ค. 66 นี้ จะเป็นวันที่ผู้ลงทะเบียน “เลือกตั้งล่วงหน้า” จะได้เข้าคูหากันแล้ว โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งหลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าขั้นตอนการเลือกตั้งล่วงหน้าต้องทำอย่างไรบ้าง

1.ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ได้ที่เว็บไซต์กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/ โดยกรอกรหัสบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัง หลังจากนั้นเว็บไซต์จะขึ้นข้อมูล ได้แก่ ชื่อ/จังหวัดที่มีสิทธิ/เขตที่มีสิทธิ/วันที่เลือกตั้งล่วงหน้า/จังหวัดที่ไปใช้สิทธิ/สถานที่ที่จะไปใช้สิทธิ และ ลำดับในบัญชี

2.การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจะต้องเลือกผู้สมัคร ส. ส.ตามเขตในทะเบียนบ้านที่มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น เช่น หากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เขต 2 จังหวัดเพชรบุรี แต่มาทำงานที่กรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร และได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ที่เขตจตุจักร ในวันที่ 7 พ.ค. 66 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้าจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แต่ต้องเลือกผู้สมัครที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 2 จังหวัดเพชรบุรี ไม่ใช่เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

โดยหากไม่ทราบข้อมูลหรือหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ในจังหวัด/เขตที่ตัวเองมีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบได้ที่แอปพลิเคชัน SMART VOTE โดยดูที่ ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง แล้วไปที่ ข้อมูลผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วเลือกจังหวัดและเขตที่ตนเองมีสิทธิเลือกตั้ง หรือกรอกรหัสบัตรประจำตัวประชาชน นอกจากนี้ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า กกต.จะอำนวยความสะดวก ด้วยการทำเอกสารรายชื่อ ของ สส.เขต ในพื้นที่ต่างๆ ติดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้ง

3.เตรียมเอกสารแสดงตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตรที่หน่วยงานของรัฐออกให้ หรือ แอปพลิเคชั่น ThaiD

4.ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค.66 สามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00น. ในเขตเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนไว้ สำหรับขั้นตอนการเลือกตั้งมีดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบรายชื่อ

ตรวจสอบรายชื่อและลําดับที่จากบัญชีรายชื่อ ผู้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้งกลางที่ผู้มีสิทธิลงทะเบียนขอใช้สิทธิไว้ หรือตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิทางแอปฯ Smart Vote

ขั้นตอนที่ 2 ยื่นหลักฐานแสดงตน

ยื่นบัตรประชาชนหรือหลักฐานแสดงตนให้กรรมการประจําที่เลือกตั้งกลางเพื่อตรวจสอบข้อมูลและยืนยันตัวตน พร้อมลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง

ขั้นตอนที่ 3 รับบัตรเลือกตั้งและซองใส่บัตร

รับซองใส่บัตรเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้ว หัวแม่มือขวา บนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท โดยกรรมการประจําที่เลือกตั้งกลางลงลายมือชื่อ ในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง พร้อมลงรายการเกี่ยวกับจังหวัด เขตเลือกตั้งและรหัสเขตเลือกตั้ง ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส. 5/2)

ขั้นตอนที่ 4 ทําเครื่องหมายกากบาท

เข้าคูหาลงคะแนน ทําเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทําเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้ง แต่ละประเภท โดยสามารถเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ได้เพียงบัตรละหมายเลขเดียว หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดเลยให้ทําเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

ขั้นตอนที่ 5 หย่อนบัตรด้วยตนเอง

เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ ให้เรียบร้อย แล้วใส่ลงในซองใส่บัตรเลือกตั้งปิดผนึก ให้เรียบร้อยก่อนออกจากคูหาเลือกตั้ง

ขั้นตอนที่ 6 หย่อนบัตรด้วยตนเอง

มอบซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ให้ปิดผนึกเรียบร้อยให้กรรมการประจําที่เลือกตั้งกลางผู้ทําหน้าที่ควบคุมหีบบัตรลงลายมือชื่อ กํากับตรงรอยต่อผนึกซองดังกล่าวพร้อมปิดทับรอยต่อผนึกซอง ด้วยเทปกาวใส เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วให้กรรมการประจําที่เลือกตั้งกลางยื่นซองใส่บัตรเลือกตั้งคืนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ขั้นตอนที่ 7 หย่อนบัตรด้วยตนเอง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนําซองใส่บัตรเลือกตั้ง ใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

โดยหลังจากเสร็จสิ้นวันเลือกตั้งล่วงหน้าเจ้าหน้าที่จะได้ทำการคัดแยกบัตรลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิส่งไปยังสถานที่นับคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ เพื่อนับในวันเลือกตั้ง

ทั้งนี้ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจะใช้สิทธิได้เฉพาะวันที่ 7 พ.ค. 66 เท่านั้น หากไม่ไปจะไม่สามารถใช้สิทธิในวันที่ 14 พ.ค. 66 ได้อีก

ที่มา: https://thaivote.info