

- คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ขอเวลา 15 วัน สอบข้อเท็จจริงจาก 9 ประเด็นที่ขอ รฟท.แจงเหตุเปลี่ยนป้ายสถานีกรุงเทพอภวัฒน์
- พร้อมตั้ง 2 ประเด็นหลัก รฟท.ทำตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ – สามารถปรับราคาจัดจ้างถูกกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่
- ด้าน รฟท. ออกหนังสือชะลอโครงการติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ งบ 33 ล้านบาท
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ สถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เปิดเผยภายหลังการประชุมครั้งแรกว่า ในการประชุมครั้งนี้ทาง รฟท. ได้ส่งรายละเอียดและชี้แจงข้อเท็จจริงที่ คณะกรรมการฯตั้งประเด็นไปใน 9 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ความเป็นมาของโครงการ 2.ขอบเขตงาน หรือ TOR 3.รายละเอียดราคากลาง 4.รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคากลาง (ทุกครั้ง)5.การขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง บันทึกสั่งจ้าง และรายละเอียดการสั่งจ้าง 6.สำเนาข้อเสนอราคาของบริษัทผู้รับจ้าง 7.สำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการจ้าง ทุกครั้ง 8.สัญญาจ้าง9.เปรียบเทียบราคาการติดตั้งป้าย กับ ราคาตลาดโดยทั่วไป ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวทาง รฟท. ไม่ได้มาชี้แจงด้วยตนเอง โดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีกำหนดการต้องรายงานผลการสอบสวน ให้กระทรวงคมนาคมทราบภายใน 15 วัน หรือ 19 มกราคมนี้
ทั้งนี้ทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะมีการพิจารณาใน 2 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ทาง รฟท. มีการดำเนินการตามกฎหมายระเบียบ พ.ร.บ.จัดซื้อ จัดจ้าง ปี 62ของกรมบัญชีกลางหรือไม่ ขณะเดียวกันจะมีการสอบราคาที่มีการจัดจ้าง รวมถึงจะพิจารณาถึงเหตุผลว่าทำไม รฟท. ถึงมีการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง 2.พิจารณาถึงความเหมาะสมทางด้านราคา ว่าจะมีการดำเนินการที่ประหยัดกว่างบประมาณที่จัดจ้างได้หรือไม่
สำหรับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย รองศาตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย , นายปฏิกร ณ สงขลา จาก สภาสถาปนิก, ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ พิศิษฐ์ แสง-ชูโต เลขาธิการสภาวิศวกร รวมทั้ง นายเสกสรร พหลเวชช์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานระบบพัสดุ กรมบัญชีกลาง รวมถึงตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ประกอบด้วย นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการ รฟท. พร้อมด้วย หัวหน้าสำนักงานอาณาบาล ฝ่ายกฎหมาย ของ รฟท. วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง และผู้บริหาร วิศวกรงานโครงการพิเศษ และ ที่ปรึกษา เข้าร่วม ทำมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของการรถไฟ ที่จะเข้าชี้แจง รวม 8 คน ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ได้มาชี้แจงด้วยตนเอง
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในหนังสือวันที่9 ม.ค.66 เรื่องระงับงานซื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียร่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นจำกัด(มหาชน) โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ตามสัญญาจ้างก่อสร้างเลขที่ กส.5/รฟพ./2565 ลงวันที่ 29 ธ.ค.65 หนังสือการรถไฟแห่งประเทศไทย เลขที่ รฟด/2506/2565 ลงวันที่ 24 ธ.ค.2565 หนังสือบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เลขที่UN/SRT/BS-KAVO19/CE66/010301 ลงวันที่ 3 ม.ค.66 ทั้งนี้ที่ออกหนังสือ ระงับงานซื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่สร้างปรับปรุงป้ายชื่อออกมานั้นเพื่อรอผลสอบสวนข้อเท็จจริงที่กระทรวงคมนาคมตั้งขึ้นมาก่อน
ทั้งนี้ตามหนังสือที่อ้างถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ลงนามสัญญาจ้างผู้รับจ้าง บริษัทยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่ประเทศไทย ต่อมาการรถไฟฯ ได้มีหนังสือแจ้งวันส่งมอบสถานที่ ก่อสร้างและแจ้งให้เริ่มงานในวันที่ 3 ม.ค.2566 ถึงบริษัทฯ ตามอ้างถึง และเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2566 บริษัทๆ มีหนังสือแจ้งยืนยันการรับมอบสถานที่และยืนยันการเริ่มงานตามหนังสือที่อ้างถึงนั้น โดยการรถไฟฯ มีความประสงค์ขอให้ระงับงานรื้อย้าย จัดหาและติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยไปก่อน และจะแจ้งให้ทราบต่อไป