เตือน! ธุรกิจอย่าทำ 3 พฤติกรรมเข้าข่าย “ฮั้ว”



  • ทั้งลดคุณภาพสินค้า-ตั้งตัวแทนขายเดียวกัน
  • รวมถึงกำหนดเงื่อนไขทางการค้าเหมือนกัน
  • ย้ำแม้ไม่รุนแรงแต่ผิดกฎหมายมีโทษจำ-ปรับ

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เปิดเผยว่า ขอแจ้งเตือนผู้ประกอบธุรกิจระมัดระวังพฤติกรรมการทำธุรกิจที่อาจเข้าข่ายเป็นการ “ฮั้ว” หรือร่วมกันทำธุรกิจโดยมีพฤติกรรมจำกัดการแข่งขันแบบไม่รู้ตัว ซึ่งจะมีความผิดพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2560 มาตรา 55 หรือการฮั้วแบบไม่ร้ายแรง ซึ่งได้กำหนดไว้ 3 พฤติกรรม ได้แก่ 1.การร่วมกันลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการให้ต่ำกว่าที่เคยผลิต จำหน่าย หรือให้บริการ 2.การแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลใดแต่ผู้เดียว เป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการอย่างเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน และ3.ร่วมกันกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติทางการค้า เช่น การซื้อหรือจำหน่ายสินค้าหรือการบริการเพื่อให้ปฏิบัติตามที่ตกลงกัน และหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจนั้น 

“แม้พฤติกรรมดังกล่าวจะไม่ได้ทำให้เกิดการผูกขาด หรือเกิดความเสียหายต่อการแข่งขันทางการค้าอย่างร้ายแรง  แต่อาจมีความผิดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าได้ จึงขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกิจใมห้มากขึ้น และอย่ามีพฤติกรรมดังกล่าว” 

นายสกนธ์ กล่าวว่า ภายใต้พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า แบ่งการทำธุรกิจที่เข้าข่ายการฮั้วเป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรกเป็นการฮั้วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 54 ซึ่งจะเป็นการกระทำร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งในตลาดเดียวกัน เช่น บริษัท ก และบริษัท ข เป็นผู้ผลิตสินค้าแบบเดียวกัน ต่อมาทั้ง 2 บริษัทได้ทำข้อตกลงการฮั้ว ด้วยการกำหนดราคาขายเดียวกัน หรือเงื่อนไขการชำระเงิน การรับประกันแบบเดียวกัน, การฮั้วเพื่อจำกัดปริมาณ ด้วยการร่วมกันกำหนดปริมาณการผลิต และซื้อ, การฮั้วประมูล โดยกำหนดเงื่อนไขล็อกสเป็กต์ ไม่ให้ฝ่ายอื่นมาแข่งขันได้ หรือการฮั้วแบ่งตลาด เช่น ร่วมกันแบ่งพื้นที่ทำธุรกิจ เพื่อไม่ต้องแข่งขันกันเอง ส่วนอีกประเภทเป็นการฮั้วอย่างไม่ร้ายแรงตามมาตรา 55

สำหรับบทลงโทษนั้น กรณีเป็นการฮั้วแบบรุนแรง จะมีโทษอาญา จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนของการฮั้วแบบไม่ร้ายแรง มีโทษทางปกครอง คือ ปรับต้ไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นการกระทำร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจ ที่ไม่เข้าข่ายเป็นการฮั้ว เช่น กรณีที่การฮั้วนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดการวิจัย หรือพัฒนาการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า และการส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคนิคหรือเศรษฐกิจ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคในด้านต่างๆ ไม่เป็นการจำกัดทางเลือกสินค้าและไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดในตลาด 

ด้านนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ โฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กขค.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฮั้ว และนำมาพิจารณาแล้ว 3-4 เรื่อง โดยเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการฮั้วธุรกิจน้ำแข็ง โรงน้ำแข็ง ที่มีการจัดตั้งเป็นชมรม เพื่อกำหนดราคาสินค้าร่วมกัน มีการแบ่งเขตแบ่งพื้นที่การขาย จนทำให้ไม่เกิดการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ซึ่งกขค. ได้มีการตัดสินให้มีความผิด และได้ลงโทษปรับแล้ว