เงินเฟ้อไทย ส.ค.66 ต่ำสุดเป็นอันดับ 10 ของโลก

  • โต 0.88% หลังราคาสินค้ากลุ่มพลังงานสูงต่อ-อาหารทรงตัว
  • แนวโน้ม ก.ย.66 คาดทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • เหตุราคาพลังงานยังสูง ภัยแล้งต่อดันราคาอาหารสดพุ่ง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนส.ค.66 ที่ขยายตัว 0.88% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.65 นั้น ส่งผลให้เป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลกจาก 133 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข โดยประเทศที่ต่ำกว่าไทยในอันดับ 1-7 ได้แก่คอสตาริกา ต่ำสุดที่ลบ 3.28% รองลงมาคือ ซูดานใต้ ลบ 3.1%, เซเชลส์ ลบ 2.44%, บูร์กินาฟาโซ ลบ 2.0%, อาร์เมเนีย ลบ 0.17%, จีน 0.1%, กายอานา 0.33%, นิวแคลิโดเนีย 0.6% และโอมาน 0.80% ขณะที่ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลก คือ เลบานอน 230.0% รองลงมาคือ อาร์เจนตินา 124.0%, ซิมบับเว 77.2%, ตุรกี 58.94%, ซูรินัม 53.8% เป็นต้น

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้นมาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ประกอบกับ ฐานราคาเดือนส.ค.65 อยู่ในระดับสูง จึงทำให้เงินเฟ้อเดือน ส.ค.66 สูงไม่มากนัก ส่วนเดือนก.ย.66 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เพราะราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มยังคงอยู่ในระดับสูง, อุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ภัยแล้งที่อาจทำให้พืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกทั้งฐานการคำนวณในเดือนก.ย.65 อยู่ในระดับสูง รวมถึงมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งลดค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค.66 เหลือหน่วยละ 3.99 บาท ลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 2 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.66 การลดราคาสินค้านาน 3 เดือนตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค.66 อาจทำให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มากโดยสนค.คาดว่า เงินเฟ้อทั้งปี 66 จะอยู่ที่ 1.0 – 2.0% มีค่ากลางที่ 1.5% แต่หากสถานการณ์ เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง