เงินเฟ้อม.ค.66 ลดต่ำสุดรอบ 9 เดือน

  • เพิ่ม 5.02% เมื่อเทียบเดือนม.ค.65
  • หลังราคาน้ำมันและอาหารลดลง
  • สนค.คาดทั้งปี 66 ไม่เกิน 2.0-3.0%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนม.ค.66 ว่า เท่ากับ 108.18 สูงขึ้น 5.02% เมื่อเทียบดัชนีเดือนม.ค.65 ที่อยู่ที่ 103.01 ถือว่าเป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนธ.ค.65 ที่สูงถึง 5.89% และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับจากเดือนพ.ค.65 เป็นผลจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร ขณะที่ความต้องการในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ เดือนม.ค.66 สูงขึ้น 3.04% จากเดือนม.ค.65 ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนธ.ค.65 ที่สูงขึ้น 3.23% ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ ที่สูงขึ้น 5.02% เป็นผลมาจากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น 343 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทุกประเภท ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (รถเมล์เล็ก/รถสองแถว รถแท็กซี่ เครื่องบิน) วัสดุก่อสร้าง ค่าแรงช่าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน ค่าแต่งผมชาย) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก) มีเพียง 45 รายการที่ราคาลดลง และ 42 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง

“แม้ราคาพลังงานยังอยู่สูง แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.65 ทำให้เงินเฟ้อเดือนม.ค.66 เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง ประกอบกับ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนการสินค้านำเข้า ทั้งวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูปลดลง หากราคาน้ำมันยังทรงตัวอย่างในปัจจุบัน และไม่มีสถานการณ์คาดไม่ถึงเกิดขึ้น เงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงปลายปี ทำให้ทั้งปี จะขยายตัวได้ 2.0-3.0% หรือค่ากลาง 2.5% ไม่หลุดกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ที่ 1.0-3.0%”

ทั้งนี้ จากการสำรวจ พบว่า เดือนม.ค.66 ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 18,190 บาท เพิ่มขึ้น 54 บาทจากเดือนธ.ค.65 ที่อยู่ที่ 18,136 บาท โดยใช้จ่ายเป็นค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ มากสุดถึง 4,230 บาท ตามด้วยค่าเช่าบ้าน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน 4,032 บาท, เนื้อสัตว์ 1,765 บาท, อาหารบริโภคในบ้าน ดีลิเวอรี่ 1,632 บาท, อาหารบริโภคนอกบ้าน (ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง KFC ฯลฯ) 1,249 บาท เป็นต้น

นายวิชานัน กล่าวต่อถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อว่า ปีที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นมากจากราคาน้ำมัน และวัตถุดิบต่างๆ กนง.จึงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนหนึ่งเพื่อทำให้เงินต่างประเทศไหลเข้าไทย และดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อนำไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศ จะมีต้นทุนการนำเข้าถูกลง ต้นทุนผลิตลดลง และราคาขายสินค้าลดลง ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อไม่สูงขึ้นมากนักในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังช่วยชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่กดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมากเช่นกัน

แต่มองว่า เงินเฟ้อของไทยที่ทยอยลดลงต่อเนื่อง และเดือนม.ค.66 ที่ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ เพราะเงินเฟ้อไทยแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้นมาก ได้รับอิทธิพลจากราคาน้ำมันเป็นหลัก อย่างเดือนม.ค.66 ที่เพิ่มขึ้น 5.02% มีอิทธิพลของราคาน้ำมันอยู่ถึง 1%

“เมื่อเงินเฟ้อชะลอลงแล้ว กนง.ยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของกนง. แต่เท่าที่ทราบจากข่าว ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และดึงเงินเข้าประเทศ ยังมีช่องที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เพราะดอกเบี้ยไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบประเทศอื่น โดยของไทยที่ 1.5% แต่สหภาพยุโรป 2.5%, มาเลเซีย 2.75%, สิงคโปร์ 3.6%, ฟิลิปปินส์ 5.5%, อินโดนีเซีย 5.75%, ลาว 6%, เวียดนาม 6.5% ยังมีช่องที่จะปรับขึ้นได้อีก เพราะที่ผ่านมา ไทยใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำมานาน”