เคราะห์ซ้ำ…กรรมซัด! เกษตรกร ไม่มีเงินจ่ายหนี้ ดันธกส.หนี้เสียพุ่ง 12.5%



  • เผชิญวิกฤตหลายเด้ง
  • “โควิด-ราคาพลังงานสูง-น้ำท่วม”
  • สร้างผลเสียหายต่อสินค้าเกษตร

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยในงานนแถลงข่าวก้าวสู่ปีที่ 57 ว่า จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ความตึงเครียดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต  ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วม เกิดความเสียหายต่อสินค้าเกษตร  จนส่งผลให้มูลค่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ช่วงครึ่งปีแรกของปีบัญชี 2565  (เม.ย.65-30ก.ย.)​ อยู่ที่ระดับ 12.5% จากเดิมอยู่ระดับ 9-10%  โดยธ.ก.ส.จะให้ความสำคัญกับการเข้าไปดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่นยืน โดยคาดว่าจะทำให้สิ้นปีบัญชี 2565 (31 มี.ค.66) สัดส่วนเอ็นพี่แอลมาอยู่ที่ระดับ 7%

“ยอมรับว่าสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเผชิญภาวะปัญหาหลายประการ ทำให้มีข้อจำกัดทางด้านการเงิน  ถ้าธ.ก.ส.เข้าไปเร่งจัดเก็บหนี้ ก็คงไม่ใช่  ดังนั้นจึงจะเข้าไปช่วยดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้  โดยช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.65 เกษตรกรจะมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรกลับมามีความสามารถชำระหนี้ได้ ส่วนกรณีที่ทิศทางดอกเบี้ยเป็นช่วงขาขึ้นนั้น ธ.ก.ส.จะตรึงดอเบี้ยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้”

นายธนารัตน์  กล่าวว่า  สำหรับผลการดำเนินงานธ.ก.ส. ครึ่งแรกของปีบัญชี 2565  สามารถปล่อยสินเชื่อ 368,745 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปี จะปล่อยสินเชื่อได้กว่า 700,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อสะสม ณ 30 ก.ย.65 กว่า 1.6 ล้านล้านบาท และเงินฝากอยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสินทรัพย์มากกว่า 2.12 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้สินอยู่ที่ระดับ 1.974 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้จากดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมอื่นๆ อยู่ที่  42,000 ล้านบาท  ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 41,000 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,388 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว  50 ล้านบาท