“ภูมิธรรม” เลื่อนแถลงขึ้นทะเบียนร้านค้าเข้าร่วม “ดิจิทัล วอลเล็ต” เป็นเดือนกันยายน 2567 พร้อมลุยลดค่าใช้จ่ายรายย่อย นำร่องเว้นค่าเช่าแผงในองค์กร
- ลุยลดค่าใช้จ่ายรายย่อย
- นำร่องเว้นค่าเช่าแผงในองค์กร
วันที่ 4 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในระหว่างลงพื้นที่จังหวัดลำพูน ว่า จะมีการเลื่อนแถลงข่าว “ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต ” ที่เดิมกำหนดไว้วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ ไปประมาณเดือนกันยายน
ด้วยเห็นว่า ไม่ต้องการให้ซ้ำซ้อนและอยากให้โฟกัสเรื่องการลงทะเบียนของประชาชน ให้ผ่านไปก่อน อีกทั้งยังมีเวลาเพียงพอก่อนที่ทั้งโครงการจะครบทั้งระบบภายในเดือนตุลาคม ก่อนเริ่มโครงการได้ทันทีจากนั้น
สำหรับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมความพร้อมเรื่องร้านค้าแล้ว ซึ่งเบื้องต้นร้านธงฟ้าในเครือข่าวกว่า 1.44 แสนร้านค้า
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ จะเริ่มโครงการลดภาระและต้นทุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยลดค่าเช่าพื้นที่หรือให้พื้นที่ขายของโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างน้อย 3 เดือน หรือช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เว้นเก็บค่าเช่าพื้นที่ขายของรายเดือน
ทั้งนี้ แยกเป็น 2 ส่วน คือ ร้านจำหน่ายในศูนย์อาหารสวัสดิการ 43 ร้าน และ ร้านค้าตลาดนัด ที่จัดทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และศุกร์ จำนวน 993 แผง
- “ดีอี” เพิ่มจุดลงทะเบียนดิจิทัล
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย ร่วมเปิดจุดให้บริการช่วยเหลือประชาชน รับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพิ่มเติม ที่ธนาคารกรุงไทย 900 สาขาทั่วประเทศ
เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.2567
นายประเสริฐกล่าวว่า กระทรวงดีอีได้รับรายงานการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ แล้วกว่า 20.7 ล้านคน (ข้อมูลวันที่ 2 ส.ค.) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับประชาชนกลุ่มผู้ที่มีสมาร์ตโฟน ที่อาจประสบปัญหา และไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร หรือต้องการความช่วยเหลือในการลงทะเบียน นอกเหนือ จากการลงทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่นทางรัฐ
กระทรวงดีอี จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดสถานที่จุดให้บริการ (Walk-in) สอบถามข้อมูล และให้บริการรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดังนี้
- ไม่มีสมาร์ทโฟนเริ่มลงทะเบียน 15 กันยา
1.ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 ศูนย์ทั่วประเทศ 2.ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 1,200 แห่ง ทั่วประเทศ (ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาต (เอกชน) และร้านค้าให้บริการ) 3.ธนาคารออมสิน 1,047 แห่ง ทั่วประเทศ 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,238 แห่งทั่วประเทศ
และ5.ธนาคารกรุงไทย จำนวน 900 แห่ง ทั่วประเทศ
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ สอบถามข้อมูลและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่จุดบริการวอล์กอิน โดยขณะนี้ได้เพิ่มจุดบริการ ธนาคารกรุงไทย อีก 900 แห่ง รวมเป็นจำนวน 6,107 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงดีอี กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้บริการอำนวยความสะดวก ประชาชนตลอดเวลาทำการ ส่วนประชาชนกลุ่มผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน จะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.- 1 ต.ค.2567 โดยรัฐบาลจะมีการแจ้งวิธีการลงทะเบียน และจุดให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป
- ยืนยันความลับไม่รั่วไหล
นายประเสริฐ ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความบิดเบือนเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าใช้งาน แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ไร้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และเสี่ยงข้อมูลรั่วไหล นั้น
ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งข้อความดังกล่าว หากมีการเผยแพร่ออกไปสู่วงกว้างจะเป็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการใช้งานดิจิทัลของประชาชน โดยเฉพาะความเชื่อมั่น เกี่ยวกับโครงการสำคัญของรัฐบาล
ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (สกมช.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้กำหนดกรอบแนวทางการสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” และแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”
ซึ่งเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาระบบ ตามมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC พร้อมกับการตรวจสอบการออกแบบ การพัฒนา และการทดสอบเพื่อรับมือสถานการณ์ที่มีการเจาะระบบ และจัดให้มีการเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
ตลอดจนการเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารที่มีการเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าข่ายเป็นการหลอกลวง สร้างความเข้าใจผิด หรือหลงเชื่อแก่ประชาชน เช่น การสร้างเว็บไซต์ปลอม การหลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันปลอม การสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม
นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดการจัดทำแผนดำรงความต่อเนื่องของการดำเนินงานของระบบ (Business Continuity Plan) และแผนการฟื้นฟู เพื่อคืนสภาพการพร้อมให้บริการ (Disaster Recovery Plan)
ดังนั้นโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต จึงถือเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาล ในการสร้างความเชื่อมั่นการใช้งานดิจิทัลของคนไทย
- ติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี และ สกมช. ได้ติดตามตรวจสอบการดำเนินการของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยจัดตั้งทีมตรวจสอบและเฝ้าระวัง การก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ และขอยืนยันว่าการลงทะเบียนข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านแอปฯ ทางรัฐ มีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด
ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของ PDPC ดังนั้นขอให้ประชาชนได้คลายความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน ภายหลังมีข้อความบิดเบือน ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นจำนวนมาก
โดยขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการฯ ซึ่งเป็นข้อมูลโดยตรงจากรัฐบาล ที่เชื่อถือได้ ในเว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย
และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผ่านศูนย์บริการข้อมูลโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โทรสายด่วน. Digital Wallet 1111 พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
- จุดลงทะเบียนดิจิทัลชาวมุสลิม
รายงานข่าวจาก ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ หนึ่งในสถาบันการเงินรัฐวิสาหกิจของรัฐสังกัดกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ได้ร่วมเปิดจุดให้บริการรับลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วยเช่นกัน มีเจ้าหน้าที่ออกพื้นที่จุดบริการที่หน้ามัสยิดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ดีอี เตือน “รัฐบาลเปิดเพจทางรัฐใหม่ ชื่อว่า ทางรัฐ – เงินดิจิทัล” เป็นเพจปลอม
: เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com