“อาคม” ชี้เงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัว ลั่นเศรษฐกิจไทยไม่ “Overheat”

  • เผยการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศก็อยู่ที่ประมาณ 3-4% ในปีที่แล้วตัวเลขการบริโภคในประเทศก็อยู่ที่ 5%
  • ย้ำเรื่องเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องติดตามเดือนต่อเดือน
  • ชี้มีอานิสงส์ภาคการท่องเที่ยวหนุน การบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายเม็ดเงินของรัฐบาล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยว่า ขณะนี้ต้องติดตาม ทั้งนี้ด้วยมาตรการที่รัฐบาลดูแลเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะเรื่องราคาพลังงานรัฐบาลยังคงมีมาตรการตรึงราคาไว้อยู่ ซึ่งก็น่าจะมีส่วนให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ตามประมาณการของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกระทรวงการคลัง ก็ยังคงมองไปในทิศทางเดียวกัน นั้นคืออัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง 

ทั้งนี้ อีกเหตุผลหนึ่งคือช่วงปี 2565 อัตราเงินเฟ้อก็มีฐานสูง และมาตรการที่มีอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนพลังงานของหมวดภาคขนส่ง รัฐบาลก็ยังช่วยเหลืออยู่ และเรื่องค่าไฟฟ้า ก็ยังมีมาตรการช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของผู้มีรายได้น้อย มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งราคาสินค้าในประเทศน่าจะชะลอตัวลง

ทั้งนี้ เมื่อถามว่า ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ จะกลับในเข้ากรอบเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 ที่ 1-3% เมื่อไหร่นั้น นายอาคมกล่าวว่า คงต้องติดตามเดือนต่อเดือน เพราะว่าขณะนี้เพิ่งได้ข้อมูลเงินเฟ้อของเดือน ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของปีเท่านั้น แต่ถ้าเป็นไปตามคาดการณ์ในปีนี้ ก็น่าจะชะลอตัวลงไปอยู่ในกรอบไม่เกิน 3% ได้ โดยหน่วยงานนักพยากรณ์เศรษฐกิจ ต่างก็คาดว่าจะอยู่ที่ 3% 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ต้องบริหารทางด้านนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังให้สอดคล้องกัน ดังนั้นกระทรวงการคลังและธปท. ได้ร่วมมือกัน ตามหลักการนโยบายมหภาค ส่วนนโยบายด้านจุลภาค ก็จะไปดูเรื่องราคาสินค้าในแต่ละหมวดและต้นทุน อาทิ ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ลดค่อนข้างเยอะ และมีมาตรการต่อเนื่องมายาวด้วย

“เศรษฐกิจไทย ไม่ได้ Overheat หรือ เติบโตร้อนแรงเกินไป การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศก็อยู่ที่ประมาณ 3-4% และในปีที่แล้ว ตัวเลขการบริโภคในประเทศก็อยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นว่าพ้นจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว ผู้คนเริ่มกลับไปทำงาน มีเงินใช้จ่ายมากกว่าช่วงโควิด ในช่วงปีที่ผ่านมาก็แทบไม่มีผลจากด้าน demand side ประกอบการมาตรการของภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ก็กระตุ้นการท่องเที่ยว หรือโครงการคนละครึ่งที่จบไปในเฟส 5 ก็มีส่วนในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ” 

นายอาคม กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องเศรษฐกิจไทยนั้นต้องติดตามเดือนต่อเดือนเช่นกัน แม้ว่าการส่งออกของไทยจะลดลง แต่ปัจจัยอื่นๆในประเทศก็ยังดีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายเม็ดเงินของรัฐบาล และเรื่องการลงทุนเมกะโปรเจกต์ก็เดินหน้าต่อ เพราะฉะนั้นเรื่องของการส่งออกก็ต้องดูเรื่องของตลาดต่างๆ ให้ดี ตลาดที่ไทยยังมีโอกาสส่งสินค้าไปขาย

นอกจากนี้ เมื่อถามว่าแนวเศรษฐกิจเดือน ก.พ. และ มี.ค. จะดีขึ้นหรือไม่ นายอาคม กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จากการติดตาม ผลสำรวจความเชื่อผู้บริโภคช่วงเดือน ม.ค.2566 ที่ธปท.รายงานมา ก็ปรับตัวดีขึ้นและดีกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น sentiment น่าจะออกไปให้ทางที่เศรษฐกิจไทยสวนกระแส เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจของไทย กำลังเร่งตัวขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายก็คาดหวังในเรื่องของภาคการท่องเที่ยวที่ต้องดูแลให้ดี