“อาคม” รับลูกนโยบาย “นายก” เล็งเรียกประชุมแบงก์รัฐวางแนวทางแก้หนี้ครัวเรือน



  • ธ.ก.ส. เผยเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนหนี้นอกระบบไม่เยอะ
  • กยศ.พร้อมดูแลลูกหนี้ 3.5 ล้านบาท
  • เตรียมปรับโครงสร้างหนี้-ลดเงินงวด ยืดเวลาผ่อน

วันที่ 17 มิ.ย.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้ จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ต้องการให้ช่วยเหลือประชาชนก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19  ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีแนวทางการดำเนินการของตัวเองอยู่แล้ว แต่เมื่อกำหนดเป็นนโยบาย ทุกฝ่ายก็ต้องมาบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการนัดเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว โดยจะเชิญกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้งหมด มาหารือร่วมกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการออกมา

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส และธนาคารออมสิน ดำเนินการในโครงการดังกล่าวไปมากแล้ว ซึ่งธ.ก.ส.ยังดำเนินโครงการอยู่ แต่ในส่วนที่ธ.ก.ส.ดูแลมีปริมาณลูกค้าไม่เยอะมากนัก โดยส่วนใหญ่ลูกค้าที่ต้องการจะแก้ปัญหาหนี้ก็จะเข้ามาคุยกับธนาคารเพื่อหาวิธีแก้ไขอยู่แล้ว  ซึ่งลูกค้าเกษตรกรส่วนใหญ่ จะทำการกู้เงินตามปกติของการประกอบอาชีพเกษตรกร จึงทำให้มีหนี้นอกระบบไม่เยอะ

ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า กยศ.พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม เรื่องเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้แก่ผู้กู้ยืมที่ขาดความสามารถในการชำระหนี้และได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น ลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระแต่ละงวด พักการชำระเบี้ยปรับ ยืดเวลาผ่อน รวมถึงแนวทางอื่นๆ เพื่อให้เหมาะสมกับกำลังความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมแต่ละคน รวมถึงขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปให้นานที่สุด เพื่อลดจำนวนการฟ้องคดีและทำให้ลูกหนี้สามารถกลับมาผ่อนชำระได้ต่อไป

“ปัจจุบัน กยศ.มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย ซึ่งกองทุนฯพร้อมดูแลและช่วยทุกคนที่ได้รับผลกระทบ หากใครเดือดร้อนผ่อนไม่ไหวจริงๆ ขอให้ติดต่อกับ กยศ. ซึ่งกองทุนฯจะพิจารณาช่วยเหลือ เช่น ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงอีกหลายมาตรการ อาทิ การชะลอการดำเนินคดีออกไปจนถึง 31 มี.ค.65 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความซึ่งกองทุนจำเป็นต้องฟ้อง ทั้งนี้ลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีสามารถมาทำสัญญาประนีประนอมยอม และสามารถผ่อนชำระได้อีก 9-15 ปี ส่วนการบังคับคดีกองทุนจะพิจารณาบังคับคดีที่ใกล้จะขาดอายุความเท่านั้น และหากมีการบังคับคดีไปแล้วก็สามารถของดการขายและผ่อนต่อได้อีก 6 ปี”

ส่วนการรับชำระหนี้ของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 64 กองทุนฯได้รับชำระหนี้แล้ว 19,500 ล้าน ซึ่งสูงกว่าการรับชำระหนี้ปีที่ผ่านมาประมาณ 37% เป็นผลมาจากการหักเงินเดือนทำให้มีการรับชำระหนี้สม่ำเสมอ  อย่างไรก็ตามในส่วนลูกหนี้ที่มีการหักเงินเดือนซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1.4 ล้านคน กองทุนก็พร้อมผ่อนผันให้หักชำระตามความสามารถ โดยลูกหนี้สามารถแจ้งการลดหักเงินเดือนเหลือน้อยที่สุดเพียงเดือนละ 100 บาทเท่านั้น โดยเงินที่ได้จากการชำระคืน กยศ.ก็จะนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับรุ่นน้อง นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป โดยปีนี้ปล่อยกู้ไปแล้ว 38,000 ล้านบาท

“การดูแลเรื่องดอกเบี้ย ปัจจุบัน กยศ.ได้ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี เป็นการเฉพาะกิจ ให้ผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งลดจากปกติกองทุนคิดดอกเบี้ย 1% ต่อปีของเงินต้นคงเหลือ โดยให้มีผลถึง 31 ธ.ค. 64”

นอกจากนี้ได้ขยายมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยจะลดเบี้ยปรับ 100% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกรายที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งชำระได้ที่ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดีต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิปิดบัญชีที่ www.studentloan.or.th รวมถึงการลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ รวมทั้งได้ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว และลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด