“ออมสิน” เตรียมตั้งสำรองเพิ่ม 12,400 ล้านบาท ป้องกันหนี้เสียหลังมาตรการพักหนี้จบ



  • จ่อขยายระยะเวลามาตรการพักหนี้สูงสุดออกไปอีก​ 6 เดือน​
  • หลังยังมีกลุ่มที่เดือดร้อนไม่สามารถชำระและติดตามหนี้ได้
  • ​ฉุดกำไรปีนี้ลดลงเหลือ​ 18, 000 ​ล้านบาท​

นายวิทัย​ รัตนากร​ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า​ ในสิ้นปีนี้​ ธนาคารจะตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินจำนวน​ 12,400 ล้านบาท​ เพื่อรองรับการเกิดหนี้เสียจากมาตรการพักชำระหนี้ที่จะเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่จะสิ้นสุดในเดือนธ.ค.นี้​

ทั้งนี้​ การตั้งสำรองดังกล่าว​ ยังไม่นับรวมการตั้งสำรองกรณีที่สถาบันการเงินของรัฐทั้งหมดจะต้องตั้งสำรองหนี้สำหรับลูกหนี้จัดชั้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะมีการบังคับใช้ในปี​ 2565 โดยธนาคารอาจจะต้องตั้งสำรองในจำนวนสูง​ เนื่องจาก​ ลูกหนี้ของธนาคารส่วนใหญ่เป็นรายย่อยไม่มีหลักประกัน​ หากไม่มีการผ่อนผันระยะเวลาบังคับธนาคารก็จะต้องเตรียมวงเงินไว้กันสำรองเพิ่มขึ้น

“ปัจจุบัน​ มีสำรองหนี้สงสัยจะสูญแล้วจำนวน​ 100% คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ​ 4, 000 ล้านบาท​ หรือมีระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงกว่า​ 15% มีหนี้เสียอยู่​ 55, 000 ล้านบาท”

ทั้งนี้การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินดังกล่าว​ จะทำให้ผลกำไรในปีนี้ของธนาคารลดลงเหลือประมาณ​ 18, 000​ ล้านบาท​ ต่ำกว่าระยะหลายปีที่ผ่านมาที่ธนาคารมีกำไรเฉลี่ยหลัก​ 20, 000 ล้านบาท​

” ขณะนี้​ธนาคารยังประเมินไม่ได้ว่า​ ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารจำนวน​ประมาณ​ 1 ล้านล้านบาท​ หรือ 50% ของพอร์ตสินเชื่อ​ 2.1​ ล้านล้านบาทนั้น​จะไหลมาเป็นหนี้เสียจำนวนเท่าไหร่​ ดังนั้น​จึงต้องตั้งสำรองส่วนเกินไว้ในระดับสูง​ เพื่อให้ธนาคารมีความแข็งแรง​ ทั้งนี้​ ที่ผ่านมา​ ธนาคารจะตั้งสำรองเฉลี่ยปีละไม่กี่ร้อยล้านบาท โดยปีที่ผ่านมา​ ตั้งสำรองไปประมาณ​ 200​ ล้านบาท”

อย่างไรก็ตามยอดการพักชำระหนี้จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท​ เป็นลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้สูง​ โดยเป็นลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการถึง​ 400, 000 ล้านบาท​ ส่วนที่เหลืออีก​ 400, 000 ล้านบาท​ เป็นสินเชื่อบ้านและตกแต่ง​ ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้​ จะเป็นสินเชื่อที่ลูกหนี้จะสามารถชำระได้ดี​ และ​อีกราว​ 300, 000 ล้านบาท​ เป็นสินเชื่อทั่วไป​ ในจำนวนนี้มี​ 60, 000 ล้านบาท​ เป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี

“ธนาคารเป็นห่วงลูกหนี้ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องของรายได้​ และ​ไม่สามารถติดต่อได้​ ดังนั้น​ จึงมอบโจทย์ให้เจ้าหน้าที่ไปคิดแผนในการติดตามหนี้​ เพื่อให้หนี้สามารถกลับมาปกติ”

อย่างไรก็ตามธนาคารจะให้ความสำคัญกับการดูแลหนี้​ โดยขณะนี้​ แบ่งลูกหนี้ออกเป็น​ 3 ระดับ​ คือ เขียว คือ มีความสามารถชำระหนี้ เหลือง คือ มีความสามารถชำระหนี้แต่ไม่สม่ำเสมอ และ แดง คือ ไม่มีความสามารถชำระหนี้ ทั้งนี้ระดับเขียวที่สามารถกลับมาชำระได้ส่วนหนึ่งแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ จะให้กลับมาจ่ายเงินต้นแต่จะให้พักชำระดอกเบี้ยส่วนหนึ่งไปก่อน​ โดยเบื้องต้นจะให้ระยะเวลาอีก​ 6 เดือน​ ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาธนาคารจะมีมาตรการดูแลพิเศษ​ ซึ่งเราจะพัฒนาให้สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้บนแอปพลิเคชั่น mymo ได้

ทั้งนี้แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีหน้า ประเมินว่า​ น่ายังอยู่ในระดับทรงตัวตั้งแต่เกิดโควิด-19​ โดยภาคธุรกิจบางตัวอาจจะเริ่มฟื้นตัว​ แต่บางธุรกิจยังไม่สามารถไปได้​ หรือในธุรกิจเดียวกัน​ อาจจะดีขึ้นในบางพื้นที่​ เช่น​ ธุรกิจท่องเที่ยว​ อาจจะดีขึ้นในบางจังหวัด​ เป็นต้น

“เศรษฐกิจในปีหน้าเรายังต้องประเมินอีกครั้ง​ เพราะขณะนี้​ โควิด-19​ ยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่​ อย่างไรก็ตาม​ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว​ ยังมีบางจุดดีบางจุดไม่ดี​ เช่น​ ธุรกิจท่องเที่ยวก็ดี​ในบางจุดบางจังหวัด เป็นต้น”