

- กรมทางหลวงชี้แจงกรณีรถบรรทุกพ่วง18ล้อตกสะพานมอเตอร์เวย์
- ขอความร่วมมือรถบรรทุกมากกว่า6ล้อห้ามใช้สะพานต่างระดับทับช้างใหม่
- แนะผู้ใช้เส้นทางปฏิบัติตามป้ายเตือนและป้ายแนะนำกรมทางหลวง
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรณีเกิดอุบัติเหตุ รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่คว่ำตกสะพานถนนมอเตอร์เวย์ว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2563 เวลาประมาณ 06.14 น. ได้มีรถบรรทุกหัวลาก หมายเลขทะเบียน 78-2033 กทม. และกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 78-0636 กทม. บรรทุกตู้คอนเทรนเนอร์ ขนส่งสินค้าข้าวบาร์เลย์ เดินทางจากคลังสินค้าร่มเกล้า (ICD) มุ่งหน้าไปต่างระดับบางปะอิน จุดหมาย อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงสะพานต่างระดับทับช้างใหม่ ผู้ขับขี่ได้ฝ่าฝืนป้ายบังคับขับรถขึ้นสะพานดังกล่าว โดยใช้ความเร็วเกินกำหนดเข้าทางโค้งรถเกิดเสียการทรงตัวทำให้เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำตกลงจากสะพาน ลงมาบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ตอน ถนนศรีนครินทร์ – บางปะกง ที่บริเวณ กม.6+900 ด้านซ้ายทาง (มุ่งหน้าพัทยา) กีดขวางการจราจร 3 ช่องทางขวา และมีข้าวบาร์เลย์ที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทรนเนอร์ ตกกระจาย กีดขวาง 2 ช่องทางขวาทิศทางมุ่งหน้ากรุงเทพฯ

ทั้งนี้สันนิษฐานเบื้องต้นขับขี่โดยประมาท ในที่เกิดเหตุพบผู้เสียชีวิตเป็นชาย 1 ราย ชื่อนาย วิจักร ดอกคำ อายุ 40 ปีกู้ชีพนำผู้เสียชีวิตส่งนิติเวช รพ.ตำรวจ ตรวจสอบ มีทรัพย์สินของทางราชการเสียหายเป็น บาริเออร์ และ ป้ายจราจรดำเนินการเคลื่อนย้ายและเปิดการจราจรเป็นปกติ เวลา 10.23 น. นั้น
อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายวันที่25 เม.ย.นี้ ได้สั่งการให้กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ลงพื้นที่เกิดเหตุร่วมกับพนักงานสอบสวนของกองกำกับการ 8 ตำรวจทางหลวง เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของอุบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งจากที่ได้รับรายงานสรุปจากการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลหลักฐานในเบื้องต้นพบว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นจากองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยจากผู้ขับขี่เป็นหลัก

โดยผู้ขับขี่รถบรรทุกคันดังกล่าวขับรถมาด้วยความเร็วสูง จากการตรวจสอบจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบนมอเตอร์เวย์ ของศูนย์ควบคุมการจราจรกลาง (CCB ลาดกระบัง) พบรถบรรทุกคันดังกล่าวเดินทางออกจากสถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า (ICD ลาดกระบัง) ด้วยความเร็วโดยประมาณ 98 กม./ชั่วโมง ก่อนขึ้นสะพานจุดเกิดเหตุ และตามข้อมูล GPS จากกรมการขนส่งทางบก พบว่าความเร็วก่อนเกิดเหตุอยู่ที่ 71 กม. ต่อ ชม. ซึ่งบริเวณดังกล่าวติดตั้งป้ายและเครื่องหมายบังคับความเร็วอยู่ที่ 60 กม. ต่อ ชม. นอกเหนือจากนั้น สะพานต่างระดับดังกล่าว อนุญาตให้ใช้เฉพาะรถเล็กเท่านั้น วิเคราะห์แล้วเกิดจากการใช้ความเร็วที่ไม่เหมาะสมกับกายภาพทางหลวง จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียในลักษณะดังกล่าวขึ้น

มูลเหตุข้อสันนิษฐานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากพนักงานสอบสวนของกองกำกับการ 8 ตำรวจทางหลวงที่ได้สอบถามข้อมูลจากหัวหน้างานของผู้ขับขี่รถที่เกิดอุบัติเหตุทราบว่าผู้ขับขี่จะขับรถนำสินค้าจาก สถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า (ICD ลาดกระบัง) เพื่อไปส่งยัง อ.บางเลน แต่ได้ออกจากต้นทางล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้ต้องเร่งรีบในการเดินทางเพื่อให้ทันกับรถคันอื่นของบริษัทที่เดินทางไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ของศูนย์ควบคุมการจราจรกลาง (CCB ลาดกระบัง) พบว่ารถคันดังกล่าวเสียการทรงตัวขณะเข้าทางโค้งเนื่องจากแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ น้ำหนักบรรทุกในตู้คอนเทนเนอร์จึงดึงตัวรถตกลงจากสะพาน และจากการลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุพบว่ามีรอยเบรคของรถบรรทุกคันดังกล่าว ก่อนพุ่งชนแบริเออร์ราวสะพาน ซึ่งได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย โดยกรมทางหลวงได้ทำการตรวจสอบความสูงของแบริเออร์ราวสะพาน พบว่ามีความสูงและความแข็งแรงตามมาตรฐานของกรมทางหลวง

ทั้งนี้ กรมทางหลวงขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นและขอเรียนว่าสะพานต่างระดับทับช้างใหม่แห่งนี้ได้ก่อสร้างขึ้นและเปิดใชังานเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ที่จะวิ่งไปยังทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ทิศทางมุ่งหน้าบางปะอิน โดยไม่อนุญาตให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ขึ้นใช้สะพานเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่ผู้ขับขี่รถบรรทุกอาจใช้ความเร็วสูง (โดยรถบรรทุกขนาดใหญ่สามารถใช้สะพานเดิมได้) กรมทางหลวงมีการติดตั้งป้ายเตือนบริเวณก่อนขึ้นสะพาน พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อความผ่านป้าย VMS รวมทั้งมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด สำหรับรถที่ฝ่าฝืนมีการจับ–ปรับ ออกใบสั่งโดยตำรวจ ซึ่งหลังเกิดอุบัติเหตุนี้ กรมทางหลวงจะเพิ่มมาตรการโดยการติดตั้งคานจำกัดความสูงของรถที่ระยะความสูง 3.20 เมตร
นอกจากนี้ กรมทางหลวงขอความร่วมมือผู้ใช้รถยนต์ 4 ล้อที่จะใช้สะพานต่างระดับทับช้างใหม่แห่งนี้ ขอใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดคือ 60 กม./ชม.และขอให้ผู้ใช้เส้นทาง ปฏิบัติตามป้ายเตือนและป้ายแนะนำกรมทางหลวงพร้อมทั้งใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด ตลอดจนตรวจสภาพรถให้มีความพร้อมในการใช้งานและไม่ขับรถขณะร่างกายไม่พร้อมหรือมีอาการง่วงนอน