“อนุทิน”เผย”นายกฯ เห็นด้วยให้ฟื้นฟูการบินไทย



  • ย้ำเป็นหนทางที่ดีที่สุด แนะต้องยอมถอยคนละก้าว เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้
  • ชี้ ปล่อยการบินไทยล้มละลายไม่อยู่ในหัว”นายกฯ”
  • ปัดตอบ “อุตตม”ไม่ร่วมหารือมีนัยยะหรือไม่ โยนถามเจ้าตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่. 15 พ.ค. นี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)​เข้าหารือ โดยใช้เวลาราว 30 นาที

โดยนายอนุทิน กล่าวหลังการหารือว่า การหาเงินทุนเพื่อจะมาลงทุนก็ลำบาก ซึ่งก็น่าจะเหลืออยู่วิธีการเดียวคือการฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งการฟื้นฟูกิจการจะต้องมีขั้นตอนทำไปพร้อมๆกันกับการปรับโครงสร้างผู้บริหารการบินไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ เป็นสิ่งที่หารือกันเบื้องต้นในขณะนี้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นหลักแต่วันนี้ทางกระทรวงการคลังไม่ได้มาหารือด้วย

“นายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นไปในทางเห็นด้วยที่จะให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สวยที่สุดถ้าทุกคนและทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ การบินไทยก็จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่วนกรณีการบินไทย ทำแผนฟื้นฟูมาแล้วหลายรอบแต่ยังไม่ได้ผลนั้น เนื่องจาก ที่ผ่านมาเป็นแผนการฟื้นฟูกิจการภายใน ไม่ใช่แผนการฟื้นฟูหนี้ แต่ขณะนี้กำลังฟื้นฟูหนี้ที่มีอยู่ ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ “

และเมื่อถามถึงกรณีที่นายกฯได้ให้ไปศึกษาพระราชบัญญัติล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการในหมวดฟื้นฟูกิจการนั้น หลายฝ่ายที่ยื่นฟื้นฟูกิจการไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหนี้อย่างเดียว เจ้าหนี้ที่มีหนี้ มากกว่า 10 ล้านบาทก็สามารถยื่นขอให้ฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งในหมวดฟื้นฟูกิจการจะมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าอะไรบ้างที่เข้าในกระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่น 1.มีหนี้สินล้นพ้นตัว มีส่วนของหนี้สินเกินกว่ากี่เท่า 2. ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งก็ต้องไปดู และ3.ในส่วนของผู้ถือหุ้น หรือส่วนทุน เป็นลบ ก็ต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ นอกจากนี้ก็มีรายละเอียดอีกหลายข้อ และไม่ใช่ต้องเข้าทั้งหมดมีเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ยื่นขอฟื้นฟูได้ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้เราก็ต้องแข่งกับเวลา ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการแล้วก็เป็นเรื่องของเจ้าหนี้และลูกหนี้โดยมีศาลเป็นผู้กำกับ และจะต้องมีผู้ทำแผน เมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการแล้ว อำนาจการบริหารจัดการบริษัทนั้นๆก็จะอยู่กับผู้ทำแผนที่ศาลเป็นผู้แต่งตั้งโดยเป็นความเห็นชอบทั้งจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผู้ทำแผนต้องมีหน้าที่เจรจากับเจ้าหนี้ และทำแผนฟื้นฟูกิจการขึ้นมา ถ้าตกลงกันได้ก็ไปโหวตที่ศาล หลังจากนั้นผู้ทำแผนก็หมดหน้าที่ไป เป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่ต้องทำตามแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลมีคำพิพากษามา ซึ่งมีขั้นตอนอีกมาก

“วันนี้เราต้องเร่งหาข้อสรุปในตัวนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรี บอกว่าเราต้องฟื้นฟูกิจการ ถ้าไม่ฟื้นฟูเราไปต่อไม่ได้ ตอนนี้เรามีสถานการณ์โควิด สายการบินก็ไม่ได้บิน เดินทางเข้าประเทศต่างๆก็ไม่ได้ สายการบินในประเทศรายได้ก็หายไปมาก ผมคิดว่าตอนนี้เหลือเพียงซอยเดียวแล้ว การฟื้นฟูกิจการเป็นทางที่ดีที่สุด ทุกคนต้องถอยกันบ้าง เพียงแค่ก้าวเดียว ก็จะเดินหน้าไปได้ 5 ก้าว ซึ่งเราควรจะต้องทำ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นกระทรวงคมนาคมที่ผมกำกับดูแล เพียงได้แต่เสนอเท่านั้น แต่ทั้งหมดอยู่ที่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะกระทรวงการคลังก็ต้องไปพูดคุยกันอีกที”

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังไม่มาร่วมหารือด้วยมีนัยยะอะไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า คงต้องไปถาม นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ดู อย่างไรก็ตามหากพูดถึงผู้ถือหุ้น ถ้าในบริษัทนั้นๆ มีส่วนของทุนเป็นลบ ใบหุ้นก็ไม่มีราคาอะไร เจตนารมณ์ของการฟื้นฟูกิจการภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย หลักการคือเมื่อคนสะดุดล้มด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม แทนที่จะขายทรัพย์สินหรือขายทอดตลาด แล้วนำมาแบ่งเฉลี่ย อาจจะได้คนละนิดหน่อย แต่การให้โอกาสในการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎกติกามารยาทใหม่ทั้งหมด กิจการนี้ก็อาจจะรอด ธุรกิจก็เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนใดที่ไม่มีมูลค่าก็อาจกลับมามีค่าก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

“คนที่ตั้งใจทำ ให้ความร่วมมือดีทั้งผู้ถือหุ้นและลูกหนี้ พนักงาน กิจการก็จะสามารถกลับมาใหม่ได้ แต่ถ้าทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ อะไรก็ไม่เอาอะไรก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางเลือก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องขายทอดตลาด หลักการก็มีอยู่แค่นี้ แต่สำหรับรัฐบาล โดยเฉพาะหัวหน้ารัฐบาลอย่างนายกรัฐมนตรี ก็อยากให้มีการฟื้นฟูกิจการก่อน การไปขายทอดตลาด หรือปล่อยให้ล้มละลายไม่มีอยู่ในหัวของนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถือเป็นทิศทางที่ดี”