ส.อ.ท. ปรับบทบาทการทำงานใหม่



  • ยอมรับกังวลงบประมาณ 63 ล่าช้า
  • ชี้ไวรัส โคโรนากระทบการท่องเที่ยวหนัก
  • มั่นใจมาตรการภาครัฐแก้ไขได้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดสำนักงานใหม่ของส.อ.ท. ว่าการดำเนินงานของ ส.อ.ท. ต่อไปนี้ จะอยู่ภายใต้แนวคิด “สมาร์ท ออฟฟิศ & สมาร์ท เซอร์วิส” ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม ่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานและการบริการ ขณะเดียวกันต้องมีบทบาทที่ชัดเจน และทำงานร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนในประเทศ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และช่วยเหลือกันเองได้โดยเฉพาะรายเล็ก ๆ รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น

สำหรับ กรณีการพิจารณาเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้าว่า ยอมรับว่าภาคเอกชน มีความกังวลในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากเข้าสู่เดือนที่ 4 ของปีงบประมาณ 2563 แล้ว แต่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ หากปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อออกไป ไม่สามารถเบิกจ่ายงบได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ รัฐบาลอาจต้องหาวิธีอื่นในการเบิกจ่าย เพื่อผลักดันการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เพื่อใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ก่อน

“ส.อ.ท.ขอเสนอให้รัฐบาล มีตัวแทนของภาคเอกชนอยู่ในคณะกรรมการ จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐภายใต้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบ/หลักเกณฑ์/เงื่อนไขและกติกาที่เป็นอุปสรรคให้การพิจารณาเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ สามารถดำเนินการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยเน้นเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น”

นายสุพันธ์ กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความเข้าใจ ถึงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความแตกต่างกันระหว่างโครงการขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จึงทำให้รู้ดีว่ารูปแบบการดำเนินงานอย่างไรที่ไม่ทำให้ติดขัด สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ซึ่งขณะนี้การจัดสรรงบประมาณปี 2563 ล่าช้าไปกว่า 3-4 เดือนแล้ว และมีแนวโน้มที่จะล่าช้าต่อไปอีก ซึ่งภาคเอกชนมีความกังวลอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยแทบจะไม่มีอะไรขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย

นอกจากนี้ ล่าสุดหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย ยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโครานา ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวทั้งจำนวน และรายได้จากการท่องเที่ยวอาจลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวและประชาชนระวังตัวมากขึ้น ลดกิจกรรมท่องเที่ยว ไม่เกิดการจับจ่ายใช้สอยจากก่อนหน้านี้ ที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้

“แม้ประเทศไทย ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งภาคเอกชนมั่นใจว่ามาตรการของภาครัฐบาล ที่คอยควบคุมดูแลและเฝ้าระวังเป็นเรื่องที่ดีที่สุด คาดว่าภายในเดือนมี.ค.นี้ รัฐบาล จะสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างได้ ขณะที่ประชาชน ก็ ต้องมีการป้องกันและระวังตัวด้วย ขณะที่ภาครัฐยังต้องมีมาตรการดูแลเพิ่มเติมเรื่องการรับมือและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างชัดเจน รวดเร็ว และทันเหตุการณ์มากขึ้นหากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของไทย”