“สุริยะ” เผยนักลงทุนญี่ปุ่นแห่ลงทุนไทย 9 เดือน ปี 62 มูลค่าลงทุน 62,000 ล้านบาท



  • โดยปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนสะสมกว่า 6,000 กิจการ รับอาสิสงส์สงครามการค้า
  • ชี้กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร-แปรรูปอาหาร กำลังมาแรง
  • เผยไทยมีศักยภาพด้านการลงทุน ทั้งความยากง่ายการลงทุน-ความน่าเชื่อถือก็อยู่ในอันดับดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) รับมอบเครื่อง Super Sonic Wave Dryer เครื่องอบแห้งอาหารเทคโนโลยีใหม่ จากจังหวัดเอฮิเมะ เพื่อนำมาต่อยอดนวัตกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้กับเอสเอ็มอีไทย โดยโอกาสนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2562 นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 โดยเดือน ม.ค.-ก.ย. 2562 นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติการลงทุนโดยตรง (FDI) คิดเป็นมูลค่ากว่า 62,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ปัจจุบันมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสะสมกว่า 6,000 กิจการ ในช่วงสงครามการค้า นับเป็นโอกาสที่นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถเข้ามาใช้ไทยเป็นแหล่งลงทุนได้ จึงขอเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญนอกเหนือจากอุตสาหกรรมยานยนต์และอื่นๆแล้ว นักลงทุนญี่ปุ่นยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนคือ ในอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการพัฒนาความร่วมมือทั้งกับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมา กสอ.มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่น รวมกว่า 30 ฉบับ โดยเป็นการลงนาม MOU กับรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นมากถึง 21 จังหวัด จากทั้งหมด 47 จังหวัด ของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงจังหวัดเอฮิเมะ เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพภาคอุตสาหกรรมร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ

นายสุริยะ กล่าวว่า ข้อมูลของธนาคารโลกปี 2020 ระบุว่าไทยได้รับการปรับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 21 จากทั้งหมด 190 ประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รวมทั้งการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจาก BBB+ เป็นระดับ A- นอกจากนี้ รัฐบาลไทยผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการเป็นประตูสู่ภูมิภาค CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการขยายธุรกิจเข้าสู่ภูมิภาคใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยปัจจุบันมีนักลงทุนจากจังหวัดเอฮิเมะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 15 บริษัท โดยลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตร อาหารแปรรูป พลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งมียอดลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท 

“กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่านักธุรกิจจากจังหวัดเอฮิเมะที่ได้ลงทุนในประเทศไทยแล้ว หรือวางแผนมาลงทุนจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และหากท่านใดมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นายสุริยะ กล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จังหวัดเอฮิเมะ มีอุตสาหกรรมที่โดดเด่น คือ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและการแปรรูปอาหาร โดยบริษัท N.S. Corporation ในนามของจังหวัดเอฮิเมะ ซึ่งผลิตและจำหน่ายเครื่องคัดแยกน้ำหนักและเครื่องแปรรูปอาหาร ซึ่งได้มอบเครื่อง Supersonic Wave Dryer จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเครื่อง Supersonic Wave Dryer เป็นเครื่องอบแห้งอาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยใช้ระบบท่อนำความร้อนของคลื่นถอดแบบจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้รสชาติและเนื้อสัมผัสอาหารคงเดิม โดยจะนำไปติดตั้ง ณ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0  (ITC 4.0) ภายใต้การดูแลของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้ในการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้กับเอสเอ็มอีของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือมีพืชผลทางการเกษตรที่มีศักยภาพและหลากหลาย