- จีดีพี เอสเอ็มอี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี2561
- คิดเป็นมูลค่ารวม 7.41 ล้านล้านบาท
- คาดการณ์ปี นี้จีดีพีเอสเอ็มอี เติบโต 3-3.5 %
นางสาว วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์ เอสเอ็มอี ปี ที่ผ่านมา ว่า จากจำนวนตัวเลขผู้ประกอบการ รวม 3,084,290 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงาน13,950,241 คน คิดเป็น 85.5% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของ เอสเอ็มอี เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่า
การส่งออกของ เอสเอ็มอี มีมูลค่า 1.99 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็น 2.1% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก และเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โดยประเทศคู่ค้าหลักของ SMEs ไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอียู โดย จีดีพีเอสเอ็มอี ปีท่ีผ่านมา มีมูลค่า7.41 ล้านล้านบาท
ท้ังนี้ ในด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการเมื่อปีท่ีผ่านมา ในรอบ 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 พบว่า เอสเอ็มอี มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ รวม 63,359 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.43 %กิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการด้านวิทยุและโทรทัศน์ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการยกเลิกกิจการ มีจำนวน 14,273 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน3.56 %กิจการที่ยกเลิกสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการนันทนาการ และอสังหาริมทรัพย์
สำหรับแนวโน้มในปีนี้ การขยายตัวของจีดีพีเอสเอ็มอี จะอยู่ที่ 3-3.5% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จากภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ทดแทนนักท่องเที่ยวจากจีน เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ขณะเดียวกันในปีนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอี ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าหากยังมีความยืดเยื้อ การแข็งค่าของเงินบาท สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การขอสินเชื่อของ เอสเอ็มอี จากสถาบันการเงินยังคงทำได้ยาก รวมถึงกระแสของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือแย่งส่วนแบ่งของธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิม ฯลฯ แต่มีสัญญาณที่เป็นแนวโน้มที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการ เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการที่ภาครัฐระดมสรรพกำลังเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ปรับตัวก้าวทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผ่านแนวทางสำคัญที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้ เอสเอ็มอี เติบโตและอยู่รอดได้