- เดือนเม.ย. ลดลงอย่างต่อเนื่อง
- คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวเป็นบวก
- ครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลังโควิด-19เริ่มคลี่คลาย
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีเมื่อ เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯเอสเอ็มอี อยู่ที่ระดับ 27.6 ลดลงจากเดือนมี.ค.ที่อยู่ในระดับ 31.0 เป็นผลต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดทั้งเดือนเม.ย. ทำให้ปริมาณซื้อ-ขายสินค้า และการให้บริการธุรกิจต่างๆ อยู่ในภาวะซบเซาทั่วประเทศ
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า สสว.ได้คาดการณ์ว่าจะ ปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าจะ อยู่ที่ระดับ 53.0 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนมี.ค. ที่อยู่ในระดับ 35.5 โดยเป็นสัญญาณบวก ครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ที่ดีขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 เพราะรัฐบาลควบคุมโรคระบาดได้ดี และมีความชัดเจนของมาตรการผ่อนปรนข้อจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการ คาดการณ์กำลังซื้อจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เมื่อเดือนเม.ย. ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ,ปริมาณการผลิต การค้าและบริการ , กำไรที่ปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ระดับ 11.0, 11.8 และ 12.1 ตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบด้านการลงทุน, ต้นทุนรวม และการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 34.5, 58.5 และ 37.9 ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงในทุกภูมิภาค และเกือบทุกสาขาธุรกิจ เนื่องจากโควิด-19 และการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณซื้อ-ขายทั้งสินค้า และการให้บริการธุรกิจต่างๆ ชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ภาคการผลิต, ภาคการค้าและบริการ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เมื่อเดือนเม.ยง ลดลงอยู่ที่ระดับ 26.3 และ 28.0 ตามลำดับ โดย 3 สาขาที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำที่สุด คือ การผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ บริการที่พักโรงแรม และบริการกีฬา สันทนาการ เช่น ศูนย์บริการออกกำลังกาย เนื่องจากการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้บริโภค และการปิดกิจการชั่วคราวตลอดทั้งเดือนของหลายกิจการ
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปัจจุบันของเอสเอ็มอี ในภูมิภาคต่างๆ ลดลงทุกภูมิภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 27.8 ลดลงจาก 30.9 ในเดือนมี.ค. สาเหตุมาจากการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมาตรการเคอร์ฟิว ทำให้ภาวะธุรกิจทั่วไปชะลอตัว และการกักตุนเครื่องอุปโภคและบริโภคลดลง ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 29.6 ลดลงเล็กน้อยจาก 30.2 ในเดือนมี.ค. เนื่องจากการควบคุมการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจต่อเนื่อง ซบเซาต่อเนื่อง แต่มีการขยายตัวของกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และเกษตรเพื่อ ตกแต่งบ้าน เป็นต้น