สศค.แจงกู้เงินเชดเชยการขาดดุลงบรัฐ 2หมื่นล้านเป็นเรื่องปกติ



  • ปัดฐานะการคลังของรัฐบาลไม่ได้ย่ำแย่!
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง
  • เป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 63

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณผ่านการทำสัญญากู้ยืมเงิน (Term loan) จำนวน 20,000 ล้านบาท ว่า การกู้เงินดังกล่าวเป็นการดำเนินการของกระทรวงการคลังตามปกติทั่วไป เพื่อให้งบประมาณสอดคล้องกับรายได้และกระแสรายจ่ายในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในรูปแบบต่าง ๆเช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ สัญญากู้ยืมเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วเงินคลัง เป็นต้น โดยมีการวางแผนการกู้เงินและบริหารเงินคงคลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและรอบคอบรัดกุม

สำหรับการกู้เงินผ่านการทำสัญญากู้ยืมเงินในครั้งนี้จำนวน 20,000 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เหลื่อมปีมาของปีงบประมาณ 2562 จำนวน 101,022 ล้านบาท จากกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของปีงบประมาณ 2562 รวม 450,000 ล้านบาท 

โดย ณ สิ้นเดือนม.ค.2563 กระทรวงการคลังได้มีการกู้เงินเหลื่อมปีไปแล้วทั้งสิ้น 56,202 ล้านบาท แบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาลจำนวน 18,600 ล้านบาท พันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 17,602 ล้านบาท ทั้งนี้ การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 โดยกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ได้บรรจุไว้ เป็นวงเงินกู้ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

“การกู้เงินในรูปแบบต่าง ๆ ของกระทรวงการคลังถือเป็นการดำเนินการปกติทั่วไป ไม่ได้แสดงถึงฐานะการคลังที่ย่ำแย่แต่อย่างใด และฐานะการคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการรองรับมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป สะท้อนได้จากเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนม.ค. 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 316,370 ล้านบาท”

ทั้งนี้ระดับเงินคงคลังในปัจจุบันเป็นระดับที่ได้มีการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คำนึงถึงกระแสรายรับ กระแสรายจ่ายของรัฐบาล และต้นทุนการบริหารเงินแล้ว ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ และเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมาย