

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้เกษตรกรในไตรมาสแรกปี 64 ปรับตัวขึ้นดีอย่างชัดเจน เห็นได้จากตัวเลขรายได้ที่แท้จริงของเกษตรปรับเพิ่มขึ้น 10.9% จากปีที่แล้ว โดยเฉพาะเดือนก.พ.-มี.ค.64 มีรายได้เติบโตถึง 12.1-12.8% หลังจากสินค้าเกษตรหลายชนิดมีราคาเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะปาล์มน้ำมัน ยางพารา ผลไม้ และยังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย สอดคล้องดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรไตรมาสแรกที่เติบโตถึง 1.3% และราคาสินค้าเกษตรก็เพิ่มขึ้นถึง 9.7%
“ผลจากการเติบโตรายได้ทางภาคเกษตร ส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศในเดือนมี.ค.64 ปรับตัวดีขึ้นไปด้วย โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ขยายตัว 15.2% สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้น 18.4% และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ซึ่งนิยมใช้กันต่างจังหวัดก็ขยายตัว 15.6%ต่อปี”
อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมี.ค.ยังปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 48.5 เนื่องจากภาครัฐประกาศงดกิจกรรมช่วงสงกรานต์ รวมถึงผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ส่วนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 64 พบว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเกษตรมีการเติบโตสูงสุดแบบก้าวกระโดด และกลายเป็นธุรกิจดาวเด่นประจำไตรมาสแรกของปีนี้ โดย 5 อันดับธุรกิจด้านการเกษตรที่ได้รับความนิยมสูงสุด อันดับหนึ่งธุรกิจให้เช่าและการให้เช่าแบบลีสซิ่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรและการป่าไม้ เช่น บริการให้เช่ารถแทรกเตอร์ รถแม็คโคร เครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร จดทะเบียนตั้งใหม่ 70 ราย เพิ่มขึ้นถึง 69 เท่า รองลงมาเป็นธุรกิจปลูกข้าวเจ้า จดทะเบียนตั้งใหม่ 499 ราย เพิ่มขึ้น 54 เท่า
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจสนับสนุนการผลิตพืชผล เช่น การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การให้ปุ๋ย การดูแลรักษาที่ดินให้อยู่ในสภาพดีเพื่อการใช้งานทางการเกษตร จดทะเบียนใหม่ 367 ราย เพิ่มขึ้น 32 เท่า ธุรกิจปลูกมันสำปะหลัง จดทะเบียนใหม่ 33 ราย เพิ่มขึ้น 32 เท่า และธุรกิจควบคุมแมลงและสัตว์ศัตรูพืช จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 119 ราย เพิ่มขึ้น 23 เท่า