

- เตรียมลุยฟื้นฟูประเทศหลังโควิดคลี่คลาย
- กู้เงินเพิ่มขยับเพดานหนี้สาธารณะได้แต่ต้องอยู่ในช่วงเหมาะสม
วันที่ 16 ก.ค.2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยงานTHAILAND ECONOMIC MONITOR เส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษศฐกิจ ซึ่งจัดโดยธนาคารโลกว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นมาตรการการคลังช่วงนี้จึงจะเน้นลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นมาตรการที่รวดเร็วและครอบคลุม อย่างไรก็ตามคาดว่าครึ่งปีหลังในช่วงที่มีการฟื้นฟูจะมีเม็ดเงินจะลงสู่ระบบระบบเศรษฐกิจครึ่งหนึ่ง หรือ 200,000 ล้านบาทเท่านั้น ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ 400,000 ล้านบาท
ส่วนมาตรการต่างๆ ที่รัฐออกไปทั้งคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ไม่สั่งระงับเพราะบางพื้นที่ไม่ได้ล็อกดาวน์มาตรการต่างๆ ก็ดำเนินการต่อไปได้ และกระทรวงการคลังไม่ได้ออกไปเร่งการบริโภคเพราะโครงการเหล่านี้สิ้นสุดช่วงปลายปี ขณะที่ถ้าหากเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติกระทรวงการคลังจะกลับไปเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนถ้าไม่มีเรื่องข้อจำกัดทางด้านการคลัง คาดว่าเม็ดเงินที่ให้แต่ละโครงการจะได้มากขึ้น แต่เรื่องที่ต้องทำคือ การทำฐานข้อมูลช่วยเหลือประชาชนให้ตรงกลุ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าในโครงการรัฐมีการลงทะเบียนทุกครั้ง ซึ่งรัฐพยายามพัฒนาในจุดนี้ ตั้งแต่โครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่ค่อนข้างมีปัญหา จนถึงโครงการเราชนะ ซึ่งมีการคัดกรองได้มากขึ้น เนื่องจากยังมีประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่อยู่ในระบบภาษี
ส่วนจะมีการกู้เงินเพิ่มเติมหรือไม่นั้น นางสาวกุลยา กล่าวว่า ตอนนี้ยังมีเม็ดเงินงบประมาณและเม็ดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทอยู่ ถึงแม้ใกล้จะหมดแล้วแต่มาตรการฟื้นฟูที่ใช้เม็ดเงินส่วนนี้จะดำเนินการไปถึงปลายปี ส่วนมาตรการเยียวยาครั้งใหม่ที่จะออกมาก็อยู่ในวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนอกจากนี้รัฐบาลยังมีเม็ดเงินกู้ใหม่ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเตรียมรับมือการระบาดระลอกที่ 3 และ 4 อีก ส่วนถ้ายังมีวิกฤตและต้องกู้เงินเพิ่มจริงๆ ก็ยังมีช่องว่างที่ทำได้ โดยสามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะออกไป แต่ทั้งนี้จะต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสมและจำเป็นด้วย ส่วนในปีนี้แม้จะกู้เต็มพิกัดก็ยังเป็นไปตามกรอบวินัยทางการคลังที่ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)
อย่างไรก็ตามภาคการคลังได้รับผลกระทบในวิกฤตนี้ ทั้งผลการจัดเก็บรายได้ และการออกมาตรการภาษีเพื่ออำนวยสภาพคล่อง รวมถึงการที่รัฐต้องใช้ภาระงบประมาณจำนวนมากในการดำเนินนโยบายบรรเทาผลกระทบ ในระยะสั้นถึงยาวจะต้องดูการบริหารรายได้ รายจ่ายและเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนการกู้เงินจะต้องดำเนินการอย่างรัดกุมภายใต้ต้นทุนความเสี่ยงที่เหมาะสม แต่ในอนาคตจะต้องเพิ่มศักยภาพการเงินด้วย เนื่องจากยังมีวิกฤตทางด้านสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงต้องเพิ่มสถานะภาพการคลังทั้งรายได้ รายจ่าย และดูแลหนี้สาธารณะเพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้นจึงต้องกำหนดเป้าหมายทางการคลัง ในช่วงระยะปานกลาง โดยเน้นเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ผ่าน 3 R ได้แก่ Reform คือ การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เน้นโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บโดยใช้เทคโนโลยี Resafe หรือ การจัดสรรงบประมาณและการลงทุนในการสนับสนุนให้เกิดโครงการใช้จ่ายในพื้นที่ และ Resilience คือ การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
“ระยะนี้จะต้องใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว ซึ่งจะต้องเห็นการขาดดุลอยู่ แต่ระยะยาวถ้าเศรษฐกิจสามารถขยายตัวอย่างได้เต็มศักยภาพภาพ รัฐมีเป้าหมายจะปรับลดขนาดของการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุล ตอนนี้กระทรวงการคลังกำลังทำเรื่องการปฎิรูปภาษีทั้งระบบ ทั้งปรับโครงสร้างภาษี และการเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บ เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้เพียงพอ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดลดลง และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนด้านการคลังระยะยาวด้วย เพราะรัฐมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น และรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”