วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.จังหวัดศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมงานสัมมนาออนไลน์ รายการ AEC10NEWS ในหัวข้อ อนาคต RIDE HAILING (การเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิชัน) หลังไทยเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อน Thailand 4.0 ดำเนินรายการโดยดร.วิทย์ สิทธิเวคิน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาอาทิ ดร.ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก, นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร บริษัท แกร็บTAXI (ประเทศไทย) จำกัด
ขณะนี้ ประเทศไทยได้มีการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการเตรียมการในการรับนักท่องเที่ยวแล้ว กิจกรรมต่างๆ หลากหลายประเภทก็กลับมาดำเนินการได้แล้ว ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศประมาณ 7-8 ล้านคน โดยการคมนาคมนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และหนึ่งใน Solution คือการเรียกรถผ่าน Application ที่เรียกว่า ride-hailing ที่ผ่านมามีความคืบหน้าหลายประการด้วยกัน รวมถึง มีการตรากฎหมายออกมาแล้วเป็นกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องของ ride-hailing (รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งได้มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษากลางปี 64 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ ride-hailing (การเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิชัน) ในหลากหลายประเทศ เป็นส่วนที่เติมเต็ม Sharing economy เป็นส่วนเติมเต็มการใช้อิเล็กทรอนิกส์ ใช้ดิจิทัล มีการตอบโจทย์มากมายทั้งในเรื่องของความโปร่งใส ความแม่นยำ และการคมนาคมด้วย อย่างไรก็ดีเมื่อมีกฎหมายแล้ว ในการที่จะเดินหน้าให้ ride-hailing จำนวนรถที่มากพอต่อความต้องการระบบคมนาคมในประเทศ ถือเป็นความท้ายทายอย่างยิ่ง เพราะในเชิงนโยบายก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าเรื่องของระบบการเรียกรถรับจ้าง จะมี TAXI อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาก็อาจจะมีการพูดคุยว่าจะเดินหน้าผลักดันกันอย่างไร
โดยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ได้กล่าวว่า เราเห็น Pain Point เดียวกันว่า เมื่อคนที่มีทรัพย์สิน ทำไมไม่มีโอกาสที่จะหารายได้ เราจึงเห็นว่า Sharing economy เป็นสิ่งที่โลกกำลังไปในทิศทางนี้ คนสามารถที่จะหารายได้จากทรัพย์สินของตนเองได้ จึงได้มีการเริ่มคุยกันเรื่องของโฮมสเตย์, ride-hailing ซึ่งโฮมสเตย์ปัญหาอาจจะน้อย เพราะว่าไม่ค่อยไปกระทบกับส่วนอื่นๆ มากนัก แต่ปัญหาที่เห็นคือ รถเรียก (ride-hailing : การเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิชัน) คือทุกคนมีปัญหาเหมือนกันว่า ทำไมเวลาโบกรถแล้ว รถไม่ไป เรียกรถ TAXI แล้วบอกว่าไปส่งรถ ทำไมต้องพาอ้อม สิ่งนี้คือสิ่งที่พูดกันในสังคม ณ วันนั้นก็จะมี Grab กับ Uber ที่เข้ามาสร้างกระแสเป็นที่นิยม แต่ก็ยังผิดกฎหมายอยู่ แล้วนำประเด็นเรื่องกฎหมายมาเล่นงานกัน เราจึงคิดว่าหากเป็นเช่นนี้น่าจะทำให้ถูกต้อง ถูกกฎหมาย
ซึ่งตรงนี้พูดในส่วนของคนที่อยู่เมืองหลวง แต่ความจำเป็นของ ride-hailing หรือ Sharing economy มีความจำเป็นไปถึงต่างจังหวัดด้วย ปัญหาคือรถไม่มี การขนส่งมวลชนก็ไม่มี เวลาขึ้นรถไฟไปต่างจังหวัด หรือขึ้นเครื่องบินไปลงต่างจังหวัด แล้วผู้โดยสารจะไปอย่างไรต่อ ยกตัวอย่างจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเคยมีการจัดอีเว้นกีฬาครั้งหนึ่ง คนไปดู 4-5 พันคน เมื่อการแข่งขันจบ เลิก 20:00 น. ออกจากอีเว้น ก็ไปต่อไม่ได้เพราะไม่มีรถ ไม่มี TAXI ต้องยืนโบกรถกันข้างทาง นี่คือสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้มีเรื่องการบริการด้านการขนส่งทางนี้ เราก็ได้ใช้ความพยายามในการผลักดันนโยบาย โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซึ่งท่านได้พยายามผลักดันให้นโยบายนี้เป็นจริง โดยใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 ปี ทั้งการรับฟัง และออกแบบ จนกระทั่งออกมาเป็นกฎกระทรวง ที่จะสามารถเปิดโอกาสให้คนที่เขาขับรถรับจ้างในลักษณะนี้มาขึ้นทะเบียนได้ถูกต้อง โดยที่ทางกระทรวงคมนาคม ยังได้รับฟังทางส่วนของ TAXI เดิม คือ ออกนโยบายมาก็สามารถให้คนที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจนี้กับคนที่ทำธุรกิจอยู่เดิมสามารถไปด้วยกันได้
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในการผลักดัน เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐ ต้องเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแล ต้องเลือกประโยชน์ให้ทั้งทางผู้ประกอบการ และสำคัญที่สุดคือผู้บริโภค จึงขอฝากไปยังทางกรมฯ ที่เกี่ยวกับเรื่องเงินประกันเพื่อเป็นหลักประกันว่า Application เขาจะมีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้จะต้องไม่เป็นภาระ ทั้งรายเล็ก รายย่อย คนที่เขาอยากจะเข้าสู่ธุรกิจนี้ต้องสามารถทำได้
นอกจากนี้ นายสิริพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า แม้จะรู้ว่ามีปัญหาอยู่ข้างหน้า แต่พวกเราเดินหน้าแล้ว ก็ค่อยๆ แก้กันไป หลังจากนี้พอเข้าระบบ คิดว่าสิ่งที่ภาครัฐจะต้องทำต่อไป คือช่วยเขาอัพสกิลของคนที่ทำธุรกิจในกลุ่มนี้ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว คนที่เป็น ride-hailing ในอนาคตจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนที่จะสอนให้คนขับรถเหล่านี้ นอกจากจะส่งผู้โดยสารแล้ว ยังสามารถเป็นไกด์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว พาไปร้านค้า ร้านอาหารได้ด้วย ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การประกาศกฎกระทรวงที่ออกมา จะมีกำหนดว่าในตัวแอปพลิเคชัน จำเป็นที่จะต้องเรียกรถ TAXI ก่อน TAXI มีสิทธิ์ที่จะวิ่งมิเตอร์ธรรมดา หรือมาเข้าร่วมกับแอปโดยการที่เสียค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งให้แอป หรือสามารถที่จะใช้แอปโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยก็ได้ หมายความว่า ทั้ง TAXI ระบบเดิม ทั้งระบบใหม่ ride-hailing สามารถที่จะไปด้วยกันได้ คิดว่าตรงนี้น่าจะดีกับทุกฝ่าย แต่อาจจะต้องเริ่มลองใช้ไปสักพักหนึ่งก่อน แล้วมาดูว่าจะเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากว่าเป็นกฎกระทรวง การแก้ประกาศก็จะไม่ยากเท่าไหร่ อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่า กระทรวงคมนาคม เริ่มทำงานกับผู้ประกอบการมากขึ้น เริ่มมีการลองเอากลุ่มตัวอย่างไปทดลองระบบก่อน ว่าจะเข้าแบบไหน ถ้าเป็นแบบนี้คิดว่าน่าจะดีไซน์ระบบที่เวิร์คมากสำหรับสังคมไทยได้ นายสิริพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ แม้ว่ายังมีอุปสรรคที่เป็นคอขวดอยู่ ในการลงทะเบียนระยะแรก ด้านปัญหาความล่าช้าที่ระบบการอนุญาตขับขี่สาธารณะซึ่งมีแต่ยังไม่เคยรองรับกับคนจำนวนมากก็จะต้องใช้เวลาในการจัดการในช่วงต้นว่าจะมีมาตรการอย่างไร รูปแบบการใช้งานของ platform ที่อาจไม่ตรงกับกฎหมายไทยต้องใช้เวลาในการปรับปรุง ข้อกังวลเรื่องการอยู่ร่วมกันของ TAXI ระบบเก่า และระบบใหม่โดยทางกรมการขนส่งทางบก ก็ได้ออกหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดย TAXI ระบบเก่านั้น แม้จะถูกกำหนดราคาค่าโดยสารตามที่รัฐกำหนด เพื่อเป็นการไม่เพิ่มภาระให้ผู้โดยสารมากเกินไป แต่ยังสามารถมีรายได้เสริมจากการโฆษณา และการเก็บค่าประเป๋าเดินทางเพิ่ม ซึ่งระบบใหม่ไม่มี ด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ น่าจะทำให้ทั้งผู้ประกอบการเก่า และใหม่อยู่วมกันได้ด้วยความสุข และประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น