

- ตั้งกองปฏิบัติตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ
- รองรับการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
- เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากร ได้เตรียมจัดตั้งกองปฏิบัติตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีความร่วมมือและมีข้อตกลงกันนานาประเทศ ในการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศให้เป็นไปตามข้อตกลง ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกนั้น เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเท่านั้น
ทั้งนี้สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีเงินฝากระหว่างประเทศนั้น ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. …. ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)และผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระหนึ่ง และเตรียมเสนอเข้าสู่วาระสองและสามตามลำดับขั้นตอนต่อไปนั้น ซึ่งตามแผนการณ์จะให้มีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ และเริ่มจัดเก็บภาษีในปีหน้า

ดังนั้นกรมสรรพากร ต้องเตรียมความพร้อมรองรับ นอกจากตั้งกองปฏิบัติตามพันธะกรณีระหว่างประเทศแล้ว ยังต้องหารือกับสถานบันการเงินภายในประเทศ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ว่าข้อมูลประเภทใดที่อยู่ในข่ายต้องส่งมาให้กรมสรรพากร เพื่อจัดส่งข้อมูลนั้นให้กับประเทศสมาชิกที่มีข้อตกลงร่วมกัน และในอนาคตอาจจะขยายการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินทรัพย์ประเภทอื่นๆต่อไป
นายลวรณ กล่าวว่า สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านบัญชีเงินฝากระหว่างประเทศ ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากคนไทยที่มีบัญชีเงินฝากในต่างประเทศ ที่มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้ร่วมกัน ประเทศนั้นๆก็จะต้องส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของคนไทยนั้น ส่งกลับมาให้กับกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบว่า รายได้เหล่านั้นได้มีการเสียภาษีที่ถูกต้องแล้วหรือยัง ในทางกลับกันประเทศไทยก็จะต้องส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของคนต่างชาติ ที่อยู่ในประเทศไทย ไปให้กับประเทศที่มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีเช่นกัน
“ต่อไปนี้บริษัทใดจะเอาเงินไปฝากไว้ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Tax Haven) หรือยกเว้นภาษี อาจจะกระทำไม่ได้แล้ว เพราะแต่ละประเทศมีข้อตกลงระหว่างกัน เพื่อจัดเก็บภาษี ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี”
สำหรับการจัดทำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทย เป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับ OECD ป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษีและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศ
ส่วนกรอบการจัดเก็บนั้น มีข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 2 แนวทางได้แก่ Pillar 1 เป็นการกำหนดหลักการการจัดเก็บภาษีตามมาตรฐานสากลด้วยการเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มายังประเทศแหล่งเงินได้ โดยกำหนดสัดส่วนของกำไรที่จะต้องแบ่งให้ประเทศที่ผู้ใช้งานอยู่ในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวทางเศรษฐกิจจากยอดรายได้จากประเทศแหล่งเงินได้ซึ่งต้องมีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านยูโร โดยแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีไปยังประเทศผู้ใช้งาน 25 % ของส่วนกำไรที่เกิน 10 % ของรายได้ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านยูโรและมีอัตรากำไรมากกว่า 10 % ของรายได้คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566
สำหรับPillar 2 เป็นการกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำอยู่ที่ 15 % โดยหากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2566