

- ขอวันที่ 7 พ.ค.อนุญาตพร้อมจัดระยะห่าง ฉากกั้น จำกัดจำนวน
- ร้านอาหารจานเดียว ปิ้งย่าง ชาบู บุฟเฟ่ต์ ให้เว้นระยะ
- หากไม่ปฏิบัติตามพร้อมถูกปิดต่อ 7 วัน
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2564 ได้ทำหนังสือถึงพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อ ขอให้ทบทวนคำสั่ง ศบค. ที่ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร โดยส่งหนังสือผ่านไปทางพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.)แล้ว โดยทางสมาคมภัตตาคารไทยได้รับข้อร้องเรียน ปรับทุกข์ จากผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดโรคโควิด-19และจากมาตรการควบคุมใน 2 ระยะการระบาดที่ผ่านมา ร้านจำนวนไม่น้อยต้องเลิกกิจการพร้อมกับหนี้สิน และจำนวนมากสุ่มเสี่ยงต้องปิดกิจการ มูลค่าความเสียหายจากคำสั่งล่าสุดนี้อยู่ที่ 1,400 ล้านบาทต่อวัน
สมาคมภัตตาคารไทยจึงมีข้อเรียกร้องมายังนายกรัฐมนตรี พิจารณา 2 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทาน ในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และงดนั่งดื่มแอลกอฮอล์ ขอให้พิจารณาอนุญาต ในวันที่ 7 พ.ค. 2564 ทั้งนี้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขจัดทำมาตรฐาน SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ขึ้นมา เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ของสมัชชาการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council หรือ WTTC) มีร้านอาหารกว่า 2,000 ร้านได้รับมาตรฐานนี้ ใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อทำมาตรฐานสาธารณสุขทุกข้อ แสดงออกถึงการให้ความร่วมมือกับศบค.ด้วยดีตลอดมา
ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า มีมาตรฐานป้องกันการติดเชื้อ มีความปลอดภัย สามารถเปิดให้บริการให้นั่งรับประทานได้ ในช่วงที่เปิดหน้ากากรับประทานอาหาร สามารถเว้นระยะของโต๊ะ การเว้นให้ลูกค้าในโต๊ะนั่งห่างกัน มีฉากพลาสติกกั้น และการจำกัดจำนวนลูกค้าเทียบกับพื้นที่ สำหรับร้านอาหารที่ยังไม่ได้ตราสัญลักษณ์SHA ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเชิญชวนให้เข้าร่วมมาตรฐาน SHA เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ
ส่วนอาหารที่เป็นอาหารจานเดียวริมทางหรือร้านเล็ก ๆ ที่เป็นตึกแถว ขอให้พิจารณาอนุญาตกลับมาให้นั่งทานในร้านได้เช่นกันในวันที่ 7 พ.ค. 2564 โดยมีข้อกำหนดบังคับให้ร้านอาหารประเภทดังกล่าว ต้องลดที่ลงอย่างน้อย 50% ของที่นั่งเดิม ต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ไม่อนุญาตให้ลูกค้าที่ไม่ได้มาด้วยกันนั่งรวมโต๊ะเดียวกันเด็ดขาด ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของสาธารณสุขก่อนเข้าร้านอย่างเคร่งครัด หากตรวจพบว่าไม่ปฏิบัติตาม มีสิทธิ์ที่ใช้อำนาจในการตักเตือนแก้ไขทันทีในครั้งที่ 1 หากยังไม่สามารถปฏิบัติตามได้อีก สามารถใช้อำนาจในการสั่งปิดต่ออีก 7 วัน ตามคำสั่งของ ศบค. ได้ทันที
ด้านร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง ชาบู บุฟเฟ่ต์ ไม่อนุญาตในนั่งโต๊ะเดียวกันเกิน 4 คน และต้องเว้นระยะห่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 2 เมตร หรือ 1 เมตร แต่มีฉากกั้น รวมทั้งไม่อนุญาตให้ตักอาหารบุฟเฟ่ต์เอง หากไม่มีมาตรการดูแลป้องกันอย่างถูกวิธี เช่น ลูกค้าต้องใส่แมสปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไปรับอาหารหรือตักอาหาร และร้านต้องให้ลูกค้าใส่ถุงมือพลาสติกส่วนตัวด้วยทุกครั้ง รวมทั้งจำกัดจำนวนคนในการเดินตักอาหารให้เหมาะสมด้วย
นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวต่อไปว่า ข้อเรียกร้องที่ 2 ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้กรุณาพิจารณาเยียวยา ค่าจ้าง เงินเดือนพนักงาน 50% งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่อนผันการชำระดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน และพักการชำระเงินต้นเป็นเวลา 1 ปี อีกทั้งขอความกรุณารัฐบาลโดย ศบค.ประสานเจ้าของห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% โดยเจ้าของพื้นที่ที่ให้ส่วนลดสามารถนำไปลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งเป็นการช่วยประคับประคองร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบมาตลอดทั้งปี


