- เร่งโครงสร้างพื้นฐาน 6.5 แสนล้านให้ลงทุนจริงปลายปีนี้
- ลั่นยกเอ็มโออาร์ให้รายอื่นทำแทนการบินไทย
- “คณิศ”ลั่นพัฒนาให้คนจนหมดไปจากพื้นที่ อีอีซีภายใน 3 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) โดยเชิญนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์) นางดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เข้าร่วมด้วย โดยนายสมคิด เปิดเผยว่า ต้องการให้ทั้ง สกพอ. สศช.และบีโอไอ ทำงานร่วมกันให้มากขึ้นภายหลังจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ก้าวหน้าไปได้ดีมาก และมอบให้สศช.และสกพอ.ไปดูแนวทางแก้ไข พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อยกระดับดูแลทุกเขตพัฒนาพิเศษทั่วประเทศ นอกจากอีอีซีแล้ว ยังมีระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) ที่ผ่าน ครม.ไปแล้วยังไม่คืบหน้า และระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (เอ็นอีซี) ที่แนวคิดชัดเจนแล้ว รวมทั้งมีพื้นที่อื่นๆ อีก ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่บีโอไอดูแลและใช้ไปน้อยมาก หากไม่เร่งทำอะไร จะมอบให้กระทรวงการคลังดูแลเพื่อนำเงินมาใช้ประโยชน์ดูแลเศรษฐกิจฐานรากต่อไป
ขณะที่ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีทั้งหมด 5 โครงการ มูลค่ากว่า 650,000 ล้านบาท ได้สั่งให้สกพอ.เร่งโครงการลงทุนให้เสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะขั้นตอนการจัดหาเอกชนจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกปีนี้ เพื่อให้การลงทุนจริงเกิดขึ้นในปลายปีนี้ อย่างเช่นโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา แม้ตอนนี้จะต้องรอคำตัดสินของศาลปกครอง แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลาก็ให้เร่งจัดทำขั้นตอนอื่นๆที่สามารถทำได้ และเมื่อเรื่องสิ้นสุดแล้วจะได้เริ่มลงทุนทันที เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ) ตอนนี้ล่าช้าออกมามากจึงต้องการเร่งขั้นตอนการเจรจาให้จบ หากการบินไทบไม่ทำ มีรายใหม่ที่รออยู่และพร้อมเข้ามาทำแทนอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ให้ สกพอ.ร่วมมือกับ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) หาทางพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ให้ดีขึ้นมาให้ได้ โดยให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อออกมาตรการมาดูแลให้ครอบคลุมทั้งด้านเกษตร ท่องเที่ยว และเอสเอ็มอี ต้องทำให้ชาวบ้านใน 3จังหวัดได้ประโยชน์จากอีอีซี
“ชาวบ้านในพื้นที่ต้องไม่มีคำว่าอดอยาก เพราะผลไม้พื้นที่ก็มีเยอะมาก และปีนี้จะกำกับบริษัท ปตท.ว่าจะต้องทำห้องเย็นให้เสร็จ ซึ่งการทำเรื่องทั้งหมดนี้ ในใจคิดเอาไว้ว่าต้องทำให้เป็นศูนย์กลาง มีกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ธ.ก.ส. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ภาคเอกชนจากสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่ประเทศไทย เข้ามาช่วยในทิศทางเดียวกัน กระทรวงคลังต้องเป็นฐานทำงาน ดูความยากจน อาจให้กรมธนารักษ์ที่มีที่ดินหลายแห่ง ทำเป็นสวน เป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีกระทรวงอุตสาหกรรมมาช่วยเอาเครื่องจักรมาแปรรูป และจะเร่งกระทรวงการพลังงานดันโรงไฟฟ้าชุมชน ออกมาให้เร็วขึ้น”
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า การดำเนินงานของอีอีซี ปี 2563 เน้นเรื่องการขยายการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชน เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่อีอีซี สร้างรายได้ให้ถึงชุมชน โดยตั้งเป้าลดผู้มีรายได้น้อยให้หมดไป ภายใน 3 ปี จากประชากรทั้งหมดในอีอีซี 3.4 ล้านคน จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตและมาตรฐานสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างงานให้คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน โดยผู้มีรายได้น้อยประมาณ 350,000 คนหรือประมาณ 14% จะเร่งการจัดฝึกอบรมพัฒนาอาชีพเฉพาะกลุ่ม จัดหางานในพื้นที่ร่วมกับจังหวัด อปท. เอกชน และชุมชน พร้อมจัดหางานให้กับผู้สูงอายุ โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มนี้ ลดลงภายใน 3 ปี
นอกจากนี้ จะขยายท่องเที่ยวพื้นที่รอง และสร้างโครงการท่องเที่ยวระดับชุมชน เชื่อมโยงทรัพยากรในพื้นที่ สร้างรายได้ชุมชน ปีละ 120,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี เช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านตะพง จ.ระยอง ท่องเที่ยววัฒนธรรม ทางน้ำ จ.ฉะเชิงเทรา ท่องเที่ยวสุขภาพ นันทนาการ จ.ชลบุรี และเชื่อมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม( SME) สู่ตลาดโลก รวมทั้งจัดพื้นที่เฉพาะ ให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม พร้อมส่งเสริมไปตลาดโลกด้วยอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ร่วมกับ อบจ.ระยอง ยกระดับเป็นโครงการหลัก ให้เกิดการลงทุนปี 2563 นี้