“สมคิด” สั่งคลังตั้งกองทุนดูแลผู้ประกอบการ-คนตัวเล็ก ไม่เกิน 1 แสนล้านบาทจากพ.ร.ก.เงินกู้



  • หาแนวทางช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
  • ยอมรับตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบชัวร์!

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมการประชุมการทบทวนภาวะเศรษฐกิจ ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) สภาคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เป็นต้น ว่า ได้สั่งให้สศค.และนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือคนตัวเล็ก ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้ 

นอกจากนี้ยังสั่งให้วางแผนช่วยเหลืออุตสาหกรรมบางประเภท ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่พยายามรักษาการจ้างงานไว้ ซึ่งจะต้องเร่งหาข้อสรุปเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวให้เร็วที่สุด ซึ่งถ้าเป็นไปได้อยากให้เสร็จก่อนวันอังคารที่ 19 พ.ค.2563 ที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)

ส่วนคณะกรรมการกลั่นกรองการโครงการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะกลางนั้น ได้ให้แต่ละกระทรวงที่รับผิดชอบจะต้องเสนอโครงการเข้ามาให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา ในเรื่องการจ้างงานในท้องถิ่นเพื่อทำให้เกิดรายได้ เพราะขณะนี้มีผู้ที่ตกงานจำนวนมาก ซึ่งธปท.เสนอแนะว่าควรให้กำหนดแผนงานในระดับหมู่บ้าน เช่น การสร้างแรงงานในทุกหมู่บ้าน การดูแลบัญชี เป็นต้น 

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือคนตัวเล็กนั้น ขณะนี้กำลังสรุปแนวทางว่าจะออกมาในรูปแบบใด โดยตั้งเงินงบประมาณช่วยเหลือไว้ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำมาจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินกู้ จำนวน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 400,000 ล้านบาท 

ส่วนการรักษาการจ้างงานนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น มีทั้งเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ รวมทั้งสถาบันการเงินของรัฐที่ออกมาตรการด้านสินเชื่อมาช่วยเหลือเรื่อยๆ  แต่ในส่วนของผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น ที่มีเคยกู้เงินระบบธนาคารหรือมีประวัติการกู้ไม่ได้  รัฐบาลจะต้องหาทางช่วยเหลือเพื่อให้กลุ่มเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้ ส่วนจะเป็นรูปแบบใดนั้นกระทรวงการคลังกำลังหาข้อสรุปให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้จะต้องพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) ของ 8 สายการบินเอกชน อาทิ ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์,บางกอกแอร์เวย์ เป็นต้น ที่เสนอขอเข้ามาให้ช่วยเหลือ รวมถึงกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก เช่น โฮมสเตย์ เป็นต้น ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในการจ้างงาน โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูเพื่อไม่ให้การช่วยเหลือซ้ำซ้อนกับมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีของธปท. ที่ต้องการขอสินเชื่อใหม่ วงเงิน 500,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบแน่นอน แต่จะมากน้อยเพียงใด ขอให้ติดตามการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พ.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นการแถลงร่วมเป็นครั้งแรกระหว่าง สศค. กับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อย่างไรก็ตามมองการว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนในไตรมาส 3 และ 4 นั้น หากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มีการค้าขาย และท่องเที่ยวไทยกระเตื้องขึ้นเป็นปัจจัยหนุนเข้ามา ก็ถือว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

“ตั้งแต่เริ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับจากโควิด-19 มีการช่วยเหลือด้านการเงินแล้วถึง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประกันสังคม 10 ล้านคน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ 14 ล้านคน และกลุ่มเกษตรกรจำนวน 10 ล้านคน รวมเป็นจำนวนกว่า 34 ล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือ จากแรงงานทั้งประเทศที่มีอยู่ 38 ล้านคน ส่วนในกลุ่มที่ตกหล่นจากรัฐบาลช่วยเลหือไปแล้วนั้น ก็พร้อมเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม”