

- ตลอดปี 2563 ติดลบ 6% ลดลงจากลบ 7.5%
- ปี 2564 กลับมาขยายตัว 3.5-4.5%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์) เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ในไตรมาสที่ 3/2563 ปรับตัวลดลง 6.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 12.1% ในไตรมาสที่ 2/2563 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2563 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2563 ที่ 6.5% รวม 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง 6.7% ขณะที่แนวโน้มจีดีพีตลอดปี 2563 คาดว่าจะลดลง 6% นับเป็นการคาดการณ์อัตราติดลบลดลงจากเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2563 ที่คาดว่าทั้งปีจะติดลบ 7.3-7.8% หรือมีค่ากลางที่ ติดลบ 7.5% ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% ซึ่งการขยายตัวหลังวิกฤติส่วนหนึ่งจะมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานต่ำผิกปกติในปี 2563 เป็นสถานการณ์เช่นเดียวกับที่เคยเกิดในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และ2552
“การคาดการณ์จีดีพีตลอดปี 2563 ที่ติดลบลดลง ไม่ได้มีตัวใดตัวหนึ่งเป็นพระเอก แต่เกิดจากหลายๆตัวรวมกัน ทั้งการลงทุนภาครัฐ การส่งออก จากนี้ต่อไปต้องร่วมมือกัน เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐก่อน ที่ขยายตัว 18.5% ในไตรมาสสาม ต่อไปต้องมีการลงทุนภาคเอกชนตามมา เศรษฐกิจถึงจะขับเคลื่อนไปได้”

เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อไปว่า ในไตรมาสสามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศกลับมาฟื้นตัว เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่(ล็อคดาวน์)และยกเลิกการจำกัดการเดินทางภายในประเทศ และผลจากการมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยองคืประกอบของเศรษฐกิจที่ลดลงในไตรมาสสอง และดีขึ้นในไตรมาสสาม ได้แก่ การส่งออกสินค้าจากที่ติดลบ 17.8% ในไตรมาสสอง เป็นติดลบ 8.2% ในไตรมาสสาม การบริโภคภาคเอกชน จากติดลบ 6.8% เป็นติดลบ 0.6% การผลิตภาคอุตสาหกรรมจากติดลบ 14.6% เป็นติดลบ5.3% สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า จากติดลบ38.8% เป็นติดลบ 23.6% สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร จากติดลบ 50.2% เป็นติดลบ 39.6% สาขาขายส่ง ขายปลีก และซ่อมแซม จากติดลบ9.8% เป็นติดลบ 5.5% สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ จากติดลบ 3.3% เป็นติดลบ 0.9%
พร้อมกันนี้ มีองค์ประกอบของเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร่งขึ้น จากไตรมาสสองไปไตรมาสสาม ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาครัฐ จากขยายตัว 1.3% เป็น 3.4% การลงทุนภาครัฐจาก 12.5% เป็น 18.5% สาขาก่อสร้างจาก 7.4% เป็น 10.5% และสาขาอสังหาริมทรัพย์ จาก 0.8% เป็น 1.5% ส่วนองค์ประกอบของเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ สาขาบริหารราชการจาก 2% เป็น 0.7% สาขาการเงินและการประกันภัย จาก 1.7% เป็น 1.6% ส่วนด้านท่องเที่ยว ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับ ในไตรมาสสาม ติดลบ 100% เช่นเดียวกันไตรมาสสอง
นายดนุชา กล่าวว่า ในปี 2563 ที่เศรษฐกิจจะติดลบ 6% จะมีมูลค่าส่งออกลดลง 7.5% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมปรับตัวลดลง 0.9% และ3.2% ตามลำดับ เงินเฟ้อทั่วไป ติดลบ0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.8% ของจีดีพี ทั้งนี้ สศช.ได้นำเสนอประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2563 และปี 2564 รวม 8 ประเด็น ได้แก่ 1.การป้องกันการกลับมาระบาดรอบสองของโควิด-19 ซึ่งเกิดแล้วในหลายประเทศ 2.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ไม่น้อยกว่า 94.4% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่า 70% งบเหลื่อมปีไม่น้อยกว่า 85 % การเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไม่น้อยกว่า 70%
4.การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน 5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 6.การดูแลราคาสินค้าเกษตรและเตรียมรองรับปัญหาภัยแล้ง 7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ 8. การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกและการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ