

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน เพื่อทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)เนื่องจากขณะนี้ครบรอบกำหนด 3 ปีที่จะต้องทบทวนกรอบวินับการเงินการคลังแล้ว หลังจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลังของรัฐ มีผลบังคับใช้ในปี 2561
อย่างไรก็ตามการปรับกรอบวินัยการเงินการคลังนั้นจะอ้างอิงการขยายตัวของจีดีพีตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดเป็นหลัก ส่วนรอบใหม่ที่มีการทบทวนนั้นจะมีการปรับเพดานหนี้สาธารณะมากกว่า 60% ของจีดีพีหรือไม่ จะต้องรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศก่อน ซึ่งการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นนั้นหากสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มขึ้นก็สามารถทำได้ไม่มีปัญหา เหมือนกับต่างประเทศที่หนี้สาธารณะเกินกรอบแต่ก็สามารถบริหารจัดการได้
“ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 กรอบหนี้สาธารณะของไทยจะไม่เกิน 60% ต่อจีดีพีแน่นอน แม้จะมีการกู้เงินตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท มาใช้เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 แต่หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 58% ต่อจีดีพีเท่านั้นซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเพราะประเทศไทยเคยมีหนี้สาธารณะสูงสุดในปี 2540 ถึง 59.98% แต่ภาครัฐก็สามารถบริหารจัดการได้ และถือว่าที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้ดีมาโดยตลอด”
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า มองว่าการทบทวนกรอบวินัยการคลังครั้งนี้ น่าจะยังไม่มีการปรับกรอบวินัยการเงินการคลังให้เกิน 60% ของจีดีพี เนื่องจากภายใน 5 ปี (2564-2569) ถ้าไม่มีการกู้เงินเพิ่มเติมจากที่ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะจะไม่เกิน 60% ต่อจีพีแน่นอน