สบน.กู้เงินล็อตแรก 50,000 ล้านบาท จ่ายเยียวยาเกษตรกร 10 ล้านครัวเรือน



  • ผ่านการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน(P/N) จำนวน 1 ปี
  • เร่งสรุปแหล่งเงินกู้ต่างประเทศเสนอ”อุตตม”พิจารณา

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้สบน. จะเริ่มทยอยกู้เงินตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ในกลุ่มเกษตรกร ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้จ่ายให้คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็น 15,000 บาท จำนวน 10 ล้านครัวเรือน โดยสบน.จะทยอยกู้เงินเพื่อจ่ายให้เกษตรกรประมาณเดือนละ50,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการกู้ระยะสั้นในประเทศจากธนาคารพาณิชย์ ผ่านการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน(P/N) จำนวน 1 ปี  

ส่วนการกู้เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้กับแรงงานนอกระบบ ในเบื้องต้นจะกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์วงเงิน 70, 000 ล้านบาท ผ่านการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน อายุ 4 ปี ซึ่งจะอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยของ BIBOR หรือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.97% ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวยังคงมีความเพียงพอ แม้ว่าจำนวนผู้ที่เข้าข่ายที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน จากเดิม 14 ล้านคน เนื่องจากมีงบฉุกเฉินภายใต้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 45,000 ล้านบาทที่สามารถนำมาสมทบจ่ายได้อีก

สำหรับโครงสร้างการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น สบน.พยายามใช้แหล่งเงินกู้ที่หลากหลาย ทั้งการกู้ในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อกระจายแหล่งเงินกู้ โดยจะมีการกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาทิ การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน   สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว (Term loan)  ตั๋วเงินคลัง (Treasury bill)  ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และพันธบัตรรัฐบาล โดยพันธบัตรรัฐบาลนั้นกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาขนาดของวงเงินที่จะออกให้เหมาะสมกับตลาด รวมถึงอายุของพันธบัตรด้วย เพราะตอนนี้ตลาดไม่ได้ต้องการพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง

“การกู้จากต่างประเทศนั้น จะต้องรีบสรุปผลภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อเสนอให้นายอุตตม สาวนายนรมว.คลังอนุมัติ เนื่องจากจำเป็นต้องจองใช้วงเงิน เพราะวงเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีวงเงินที่จำกัด ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB)  ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย(AIIB)  และธนาคารโลก(World Bank) มีวงเงินที่จะให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กู้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ย เมื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาทแล้ว มีอัตราใกล้เคียงกับต้นทุนการกู้ในประเทศ เพราะมีดอกเบี้ยต่ำ และเป็นการกู้ระยะยาว 5- 13 ปี”

ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยในปีงบประมาณนี้ จะกู้เงิน 600,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 400,000 ล้านบาท รัฐบาลมีแผนจะกู้ในปีงบประมาณ2564 จากการคาดการณ์พบว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจะมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 51.84% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ส่วนปี 2564 หากกู้เงินส่วนที่เหลือรวมกับแผนการก่อหนี้เดิมในปีงบประมาณ 2564 แล้ว จะมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 57.96% ของจีดีพี ซึ่งยังไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60 % ของจีดีพี