

- ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีนวัตกรรม
- สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายรูปแบบต่างๆ
- อาหารพร้อมปรุง -รับทาน -มีอายุเก็บรักษานาน เติบโตสูง
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในเอเชียช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง เช่น ผู้บริโภคเวียดนาม นิยมรับประทานกระเทียมดำ เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ฟิลิปปินส์ นิยมรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะรุมและน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มากขึ้น สิงคโปร์มีความต้องการวิตามินซีและวิตามินรวมมากขึ้น 3-5 เท่า ซึ่งจะเป็นโอกาสของแบรนด์ต่างๆ ในการสร้างสินค้านวัตกรรมที่จะช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของโรคในอนาคต
“ โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปที่จะเน้นดูแลสุขภาพเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และกรณี ญี่ปุ่นอาหารที่มีอายุเก็บรักษานานมียอดขายเติบโตมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม ส่วนเกาหลีใต้ บริษัท CJ CheilJedang จำกัดที่เป็นบริษัทชั้นนำเกาหลีใต้ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย “2020 HMR Trend” หลังเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่าชาวเกาหลีใต้เน้นการประหยัดระยะเวลาในการเตรียมอาหาร โดยรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้น 83% และสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้นเป็นต้น”

ขณะเดียวกัน บริษัทวิจัย Nielsen จำกัดของสหรัฐฯก็ได้ สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค 11 ประเทศในเอเชีย ช่วงการเกิดโควิด-19 พบว่า ผู้บริโภค 86%จากการตอบแบบสอบถาม ในจีน จะรับประทานอาหารที่บ้าน รองลงมาคือ ฮ่องกง 77 %และมาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ 62% โดยพบว่ามูลค่าค้าปลีกอาหารในเอเชียมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 20-25% ต่อสัปดาห์ตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมา
ทั้งนี้ตลาดอาหารในเอเชียมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นตลาดที่บ่มเพาะสินค้านวัตกรรมมากขึ้น วิถีชีวิตผู้บริโภคที่กลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร(Food Delivery) เติบโตขึ้น เพราะโควิด-19 กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านและเกิดกิจกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นและประเทศไทย พฤติกรรมนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติของวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่(New Normal) โดยเป็นการสั่งซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไปโดยเฉพาะช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด

“สถาบันฯ จึงได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกลุ่มเอสเอ็มอีระยะสั้น ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19เช่น ส่วนลดค่าบริการในการใช้บริการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนลดในการใช้บริการห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ฯลฯและยัง สนับสนุนผู้ประกอบการภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ โครงการสร้างความเข้มแข็ง เครือข่ายผลิตและแปรรูปผลไม้ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากลปี 2563 เป็นต้นซึ่งเอสเอ็มอี หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน(โอทอป)ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสอบถามรายละเอียด ได้ที่โทรศัพท์ 02 422 8688 หรือเว็บไซต์ www.nfi.or.th