“ศักดิ์สยาม”เดินหน้าผลักดันสร้างโครงข่าย MR–Map ทั่วไทยนำร่อง 4 เส้นทางหลัก-มั่นใจดันไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งในภูมิภาค



“ศักดิ์สยาม”เดินหน้าผลักดันสร้างโครงข่าย MR–Mapทั่วไทย นำร่อง 4 เส้นทางหลัก หวังแก้ปัญหาโครงข่ายคมนาคม ลดความซ้ำซ้อนเวนคืนที่ดินประชาชน ช่วยให้การขนส่งสินค้าทางรางเป็นไปด้วยความสะดวกลดปัญหาการขนส่งสินค้าทางรางเข้าสู่พื้นที่ในเขตเมืองใหญ่ ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการของโครงการต่างๆตามนโยบายนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งในภูมิภาค  

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการในโครงการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองควบคู่กับระบบราง ไปในแนวเขตทางเส้นทางเดียวกัน (MR–Map) ว่า ในเบื้องต้นได้มีคัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โดยผลการคัดเลือกเส้นทางนำร่อง จาก 10 เส้นทางและพบว่ามี 4 โครงการที่มีศักยภาพสูงที่สามารถนำมานำร่องสร้างได้ก่อน ประกอบด้วย 1. เส้นทาง MR5 ชุมพร – ระนอง ระยะทาง 108 กิโลเมตร โดยการศึกษาจะสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาความเหมาะสมโครงการ Landbridge ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงระหว่างฝั่งทะเลอันดามัน – อ่าวไทย ให้เป็นศูนย์กลางการเดินเรือในภูมิภาค 2. เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง ระยะทาง 288 กิโลเมตร 3. เส้นทาง MR9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กิโลเมตร และ 4. เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ระยะทางรวม 319 กิโลเมตร

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า หลักการของการดำเนินการโครงการแผนพัฒนาโครงข่าย MRMap นี้ จะช่วยแก้ปัญหาโครงข่ายระบบคมนาคม เนื่องจากการก่อสร้าง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองควบคู่กับระบบราง จะเป็นเส้นทางเดียวกัน โดยเน้นเส้นทางที่ต้องเลี่ยงการเดินทางเข้าเขตเมือง ช่วยให้การขนส่งสินค้าทางรางเป็นไปด้วยความสะดวก ลดปัญหาการขนส่งสินค้าทางรางเข้าสู่พื้นที่ในเขตเมืองใหญ่อีกด้วย นอกจากนั้นยังลดปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินของประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการของโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งในภูมิภาค (Hub)

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า  ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ต้องวางแผนการเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทาง MRMap กับพื้นที่เขตเมืองให้เชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และการดำเนินการต่าง ๆ ต้องลดผลกระทบต่อประชาชน และหากมีการแก้ไขรูปแบบของโครงการที่ได้มีการออกแบบต้องมีการรับฟังความเห็นประชาชน หรือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

สำหรับผลการคัดเลือกเส้นทางนำร่อง จาก 10 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทาง MR1 ตาก (ด่านแม่สอด) – นครพนม (ด่านนครพนม) เส้นทาง MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) เส้นทาง MR3 กาญจนบุรี (ด่านน้ำพุร้อน) – สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) เส้นทาง MR4 ชลบุรี – ตราด (ด่านคลองใหญ่) เส้นทาง MR5 ชุมพร – ระนอง เส้นทาง MR6 ภูเก็ต – สุราษฎร์ธานี เส้นทาง MR7 เชียงราย (ด่านเชียงของ) – สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – ชลบุรี (แหลมฉบัง) เส้นทาง MR9 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ) – สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) เส้นทาง MR10 วงแหวน  รอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3