“ศักดิ์สยาม”จี้ขนส่งทางบก “เรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น-ตัดแต้มใบขับขี่”ต้องสำเร็จบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปี63 นี้ หากไม่เกิด ไม่การันตีตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบกจะยังได้ทำงานต่อหรือเปล่า ด้านอธิบดีขนส่งทางบก เด้งรับ เร่งพัฒนาแอปฯ เอาใจแท็กซี่ในระบบ 9 หมื่นคัน สร้างความเข้มแข็งหลังโดนพิษ “โควิด-19”
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงนโยบายการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรถโดยสารสาธารณะเรียกผ่านแอพพลิเคชั่น ว่า นโยบายของกระทรวงคมนาคมชัดเจนว่ากรมการขนส่งทางบก(ขบ.)จะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 63 นี้ เช่นเดียวกับนโยบายการตัดคะแนนจากการขับขี่รถยนต์ และ รถจักรยานยนต์ บนท้องถนนที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในส่วนนี้ทาง ขบ.จะต้องมีการดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของของการแก้ไขกฎหมายและให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
ทั้งนี้ในส่วนของการตัดแต้มคะแนนในใบขับขี่หากทำผิดกฎจาจรนั้น ในส่วนนี้ขบ. ต้องมีการประสานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำหนดกรอบ คะแนน และความผิดที่จะตัดแต้ม ซึ่งขณะนี้อยู่ะหว่างการดำเนินการเบื้องต้นการตัดแต้ม หากผู้ขับขี่ถูกตัดแต้มครบ 100 คะแนน จะถูกพักใบอนุญาติใบขับขี่ 1ปี หลังจากนั้นถึงจะกลับมาสอบใบขับขี่ใหม่ แต่ถ้าถูกหักแต้มคะแนนครั้งที่ 2 จนครบหมด 100 คะแนน ผู้ครอบครองใบขับขี่จะถูกยึดใบขับขี่ทันที
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ขบ. จะเรียกผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพ ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี มาทดสอบสมรรถภาพใหม่นั้น ในเรื่องนี้ทาง ขบ. อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดทั้งเรื่องการตัดแต้ม การสอบผู้ถือใบขับขี่ใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ทาง ขบ. จะนำมาตรฐานจากทั่วโลกมาปรับให้เข้ากับประเทศไทย ซึ่งตนมองว่าการเกิดอุบัติเหตุ อายุไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ขณะที่ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHOก็ได้ระบุว่า การเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความพร้อมของคนขับขี่มากกว่า ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 70%หากดื่มสุราก็จะเกิดอุบัเหตุมากสุด ,อีก 27% เกิดจากความพร้อมของรถ ส่วนอีก 3% ที่จะเกิดอุบัติเหตุได้เกิดจากมีการตัดหน้ากระชั้นชิด อย่างไรก็ตามยืนยันว่า หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามนโยบายก็ไม่มั่นใจว่าท่านอธิบดีกรมการขนส่งทางบก จะได้อยู่ทำงานต่อหรือเปล่า
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวถึงการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชั่นว่า ตามที่ก่อนหน้านี้ ขบ. ได้ดำเนินการร่างกฎกระทรวง และกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เพื่อรองรับรถยนต์ส่วนบุคคลให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่า การนำรถดังกล่าวมาให้บริการผ่านแอปฯ จะต้องไปแก้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาตามขั้นตอน นอกจากนี้ ขบ. ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด เพื่อกำหนดให้รถส่วนบุคคลที่จะนำมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นกลุ่มรถประเภทใหม่ รวมไปถึงใบอนุญาตขับขี่ด้วย
ขณะเดียวกัน ในระหว่างนี้ ขบ. จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นกลาง นำมาใช้กับรถแท็กซี่สาธารณะในระบบที่ในปัจจุบันมีอยู่กว่า 90,000 คัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัวโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการลดลง ขณะเดียวกัน การดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ขับรถแท็กซี่ ที่เสนอให้ยกเลิก Taxi OK รวมถึงการติดตั้ง GPS ที่จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ ตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม