ไม่มีเลื่อน…“ศักดิ์สยาม”ลั่น!เดือนมีนา64รถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการแน่นอน!…



“ศักดิ์สยาม”ลั่น!หลังพบไจก้ารถไฟสายสีแดงพร้อมเปิดให้บริกาทดสอบเสมือนจริงให้ประชาชนทั่วไปแบบเฉพาะเจาะจงก่อน 3เดือน เริ่มเดือนมีนา-พฤษภา 64 ส่วนเดือน กรกฎา จะเริ่มให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการเต็มรูปแบบฟรี ก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เก็บค่าบริการเดือน พฤศจิกายน64 ส่วนความคืบหน้าการขออนุมัติงานส่วนเพิ่มโครงการกว่า 9 พันล้านบาทรอรถไฟไทยสรุปกรอบวงเงิน และคนรับผิดชอบก่อนเสนอขออนุมัติ ครม. ยันไม่กระทบโครงการแน่นอน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายโมริตะ ทาคาฮิโระ หัวหน้าผู้แทน องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ประจำประเทศไทย เข้าพบว่า ทางผู้แทนไจก้าได้หารือถึงความร่วมมือใน 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การบริหารสถานีกลางบางซื่อ , 2.ความปลอดภัยบนท้องถนน โดยไจก้าได้เสนอที่จะเข้ามาศึกษาดำเนินการในเรื่องนี้ 3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีในระบบการทำถนนต่างๆ ในประเทศไทย 4.การพัฒนาบุคลากรด้านโครงสร้างถนน โดยทางไจก้าเสนองบประมาณที่จะเข้ามาดำเนินการพัฒนาให้ 5.นำเสนอเทคโนโลยีการพัฒนาอุโมงค์มาใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อนั้น ได้มีแจ้งให้ทางไจก้ารับทราบว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง บางซื่อ-รังสิต และ ช่วง บางซื่อ-ตลิ่งชันนั้น ขณะนี้มีการก่อสร้างทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์แล้ว และ อยู่ระหว่างการทดสอบระบบอาณัติสัญญาณ และ ระบบการเดินรถทั้ง 2 ช่วง โดยตามช่วงเวลาในเดือนมีนาคม 64 จะมีการทดสอบเดินรถ ระบบอาณัตสัญญาณ แบบเสมือนจริงให้ประชาชนทั่วไปแบบเฉพาะเจาะจง กลุ่ม ให้ขึ้นบริการฟรีก่อน 3 เดือน เริ่ม มีนาคม-พฤษภาคม 64 หลังจากนั้น เดือน กรกฎาคม 64 เปิดให้ประชาชนทั่วไปทดลองฟรี ก่อนที่จะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในเดือน พฤศจิกายน 64

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในส่วนของความคืบหน้าการเสนอขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง บางซื่อ-รังสิต และ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันนั้น ขณะนี้ทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)อยู่ระหว่างการรวบรวมรายละเอียดทั้งหมด เนื่องจากมีงบประมาณที่เคยเสนอขอมาที่กระทรวง 10,345 ล้านบาท และขณะนี้ได้ปรับลดลงมาที่ 9,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นงานเพิ่มเติมกว่า 6,000 ล้านบาท และเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกกว่า 3,000 ล้านบาท 

ซึ่งในเรื่องนี้ ทาง รฟท. จะต้องหาข้อสรุปรายละเอียด งบประมาณที่เพิ่มขึ้นว่าจำเป็นหรือไม่อย่างไร งานส่วนไหน สร้างไปแล้ว ส่วนไหนยังไม่สร้างแต่ขออนุมัติกรอบงบประมาณเพิ่ม จำเป็นหรือไม่ และ ส่วนที่สร้างไปเพิ่มเติมใครเป็นคนสั่งจ้าง ซึ่งทาง รฟท. จะต้องจัดทำรายละเอียดมานำเสนอให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามยืนยันว่า งบประมาณที่เพิ่มเติมแต่ยังไม่ได้อนุมัตินี้จะไม่จะกระทบต่อการเปิดให้บริการตามไทม์ไลน์ของ สายสีแดง อย่างเด็ดขาด