“วิษณุ” ชี้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดห้ามจัดการชุมนุมได้ ลั่นไม่ต้องรอให้คนติดเชื้อในม็อบแล้วค่อยประกาศ



นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีการประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในปัจจุบันนี้ สามารถบังคับใช้ไม่ให้มีการชุมนุม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้หรือไม่ว่า มีข้อกำหนดในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้แล้วว่าสามารถกำหนดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ตามมาตรา 9 โดยในช่วงแรกของการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้กำหนดห้ามมีการชุมนุมก่อนที่จะผ่อนคลายมาตรการลง ดังนั้น หากจะประกาศห้ามชุมนุมอีกก็สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการประกาศห้ามชุมนุมเอาไว้ เพราะยังไม่เห็นถึงความจำเป็น แต่ถ้าจะประกาศก็สามารถกำหนดเป็นพื้นที่ๆ ได้ หรือกำหนดพฤติกรรมการชุมนมได้ รวมถึงการตั้งเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น เมื่อไม่นานมานี้มีการผ่อนคลายมาตรการการรวมตัวของผู้คน เพื่อทำกิจกรรมแต่ละด้าน จาก 200 คนเป็น 250 คน

ทั้งนี้ทางผู้สื่อข่าวได้ถามว่า จากเหตุการณ์ล่าสุดกรณีที่พบผู้ติดเชื้อจากการชมคอนเสิร์ตทางจังหวัดภาคเหนือ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) จะพิจารณามาตรการเข้มงวดเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ทาง ศบค.ชุดเล็ก ที่มีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณา ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากผลกระทบการแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบศ.) ได้สั่งการในเรื่องดังกล่าวต่อกรณีที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ ว่าจะตีวงเฉพาะภาคเหนือหรือไม่ หรือจะขยายมาถึงกรุงเทพฯหรือไม่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะทำอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีการสอบถามอีกว่า จำเป็นหรือไม่จะต้องให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองเสียก่อน จึงจะบังคับไม่ให้มีการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้พบผู้ติดเชื่อในการชุมนุมก่อน เพราะเมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ก็สามารถออกข้อกำหนดเพิ่มได้ เช่น การห้ามชุมนุม การควบคุมสื่อ การเข้ายึดอายัด ซึ่งตอนนี้เราไม่ได้ใช้เลยแม้แต่ข้อเดียว โดย ศบค.ชุดใหญ่ มีหน้าที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เพราะอำนาจเป็นของนายกรัฐมนตรีในการสั่งการ

“เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีข้อกำหนดห้ามการชุมนุม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ก็จะไม่ถูกนำมาใช้ แต่ขณะนี้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยที่ไม่ได้บังคับห้ามชุมนุม จึงนำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาใช้ กล่าวสรุปคือ จะมีการชุมนุมหรือห้ามชุมนุมตาม พ.ร.บ.2 ฉบับ ไม่ได้ต้องใช้ทีละอย่าง” นายวิษณุ กล่าว