วิกฤตโควิด-19 มีผลทำความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนจน-คนรวย มีความห่างอย่างเห็นชัดยิ่งขึ้น



  • ช่วงโควิดส่งผลให้ทรัพย์สินของบรรดาอภิมหาเศรษฐีพันล้าน เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์
  • ขณะที่เศรษฐีร้อยล้าน ต่างก็ร่ำรวยมากขึ้นเช่นกัน
  • พบความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในประเทศที่การช่วยเหลือจากรัฐบาลมีน้อย

วันนี้ (13 ธ.ค.64) มีรายงาน World Inequality Report รายงานว่า ด้วยความไม่เท่าเทียมในโลก ส่งผลให้ทรัพย์สินของบรรดาอภิมหาเศรษฐีพันล้าน เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในขณะที่เศรษฐีร้อยล้านนั้นร่ำรวยมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ทางวีโอเอ ระบุว่า รายงานฉบับดังกล่าว จัดทำโดยเครือข่ายของนักวิจัยทางสังคม ประเมินว่า ในปีนี้อภิมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ ถือครองทรัพย์สินในครัวเรือน โดยรวมแล้วคิดเป็นมูลค่า 3.5% ของโลก เพิ่มขึ้นจาก2% ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดในปี 2563

โดยรายงาน World Inequality Report ระบุว่าวิกฤตโควิด-19 มีแต่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนจนและคนรวย มีความห่างอย่างเห็นชัดยิ่งขึ้น และเห็นได้ว่าประเทศร่ำรวยได้ใช้เงินจำนวนมาก เพื่อช่วยค้ำจุนประเทศของตนเพื่อไม่ให้ความยากจนเพิ่มมากขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวอาศัยการวิจัยเฉพาะทาง และฐานข้อมูลสาธารณะ โดยมี อภิจิต บาเนร์เจีย และเอสเธอร์ดัฟโฟล ซึ่งเป็น 2 ใน 3 นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลจากงานวิจัยเรื่องความยากจนเป็นผู้เขียนบทนำ

ทั้งนี้พวกเขากล่าวว่า ได้เกิด “การกระจุกตัวขั้นรุนแรงของอำนาจทางเศรษฐกิจในมือของอภิมหาเศรษฐี หรือ กลุ่มซูเปอร์ริช ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม”

โดยปกติแล้ว นิตยสารฟอร์บส์จะตีพิมพ์รายชื่อผู้ที่ร่ำรวยที่สุดของโลกทุกปี โดยในปีนี้มีอภิมหาเศรษฐีมากเป็นประวัติศาสตร์จำนวน 2,755 คน โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกัน 13.1 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน

รายงานบอกด้วยว่า มีคนจำนวน 520,000 คน ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุดที่คิดเป็น 0.01% ของประชากรโลกโดยมูลค่าทรัพย์สินของพวกเขาคิดเป็นสัดส่วน 11% ของมูลค่าทรัพย์สินทั่วโลก เพิ่มจาก 10% ในปีก่อน กลุ่มอภิมหาเศรษฐีที่อยู่ในกลุ่ม 0.01% ของประชากรโลกนี้ มีทรัพย์สินในครัวเรือนอย่างน้อย 19 ล้านดอลลาร์

นักวิจัยยังชี้ว่า อภิมหาเศรษฐีบางคนร่ำรวยขึ้นหลังจากที่กิจกรรมเศรษฐกิจของโลก ย้ายเข้าสู่ระบบออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์ ในขณะที่บางคนร่ำรวย เพราะทรัพย์สินที่มีอยู่ของพวกเขามีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการที่มีเงินทุนไหลเข้าตลาดการเงิน ในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเกิดการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ รายงาน ยังพบว่า ความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศที่การช่วยเหลือจากรัฐบาลมีน้อยกว่า ในขณะที่การช่วยเหลือของรัฐบาลในสหรัฐฯและประเทศในยุโรป สามารถช่วยเหลือ หรือลดผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยในประเทศได้