วาทกรรมลวง ลิขสิทธิ์บอลโลกแพง เพราะ 2 กฎ Must Carry & Must Have !



มารู้จักกับ 2 กฎ Must Carry และ Must Have ที่กำลังเป็นจำเลยใหญ่ในฉากหน้าของการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 โดย การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ที่มีนโยบาย “คืนความสุข”ให้ประชาชนคนไทย ด้วยการได้ดูบอลโลก

Must Carry

ประกาศ Must Carry ชื่อเต็มๆว่า ประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2555 

สาระสำคัญ : บังคับให้โครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี เพย์ทีวี กล่องรับชมทีวีทุกประเภท ที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช.ต้องเผยแพร่ช่องฟรีทีวีทุกช่องในโครงข่ายของตัวเอง

Must Carry เป็นประกาศ ที่สร้างช่องทางลัดให้กับทีวีดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถรับชมทุกช่อง จากทุกช่องทางตั้งแต่ในวันแรกที่ออนแอร์  โดยไม่ต้องรอคอยการขยายเครือข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ช่องทางการรับชมทีวีของคนไทยส่วนใหญ่มาจากช่องทางกล่องรับสัญญาณทั้งดาวเทียม และเคเบิล ในขณะที่การรับชมผ่านเสาอากาศทีวีบนเครือข่ายทีวีภาคพื้นดิน หรือเสาก้างปลา เพียงแค่ 30% เท่านั้น 

คำถามที่เกิดขึ้น ทำไม กสทช.ต้องมีประกาศ Must Carryในปี 2555 ในยุคปลายของทีวีแอนะล็อก ก่อนที่จะเข้าสู่ทีวีดิจิทัลในปี 2557 ถึง 2 ปี

คำตอบ :Must Carry เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เกาะติดสถานการณ์ร้อนกรณี “จอดำ” ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ระหว่าง 7 มิ.ย.- 2 ก.ค.2555 

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2012 มีแผนการขยายธุรกิจกล่องรับสัญญาณ GMM Z ใครเป็นสมาชิก ซื้อกล่อง จะสามารถรับชมบอลยูโรได้ และมีการซื้อเวลาถ่ายทอดสดบางแมตช์ทางช่องฟรีทีวีแอนะล็อก ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 ด้วย แต่ต้องเป็นการรับชมผ่านเสาก้างปลาเท่านั้น ส่วนช่องทางกล่องอื่นๆ จะเกิดสถานการณ์ “จอดำ” ระหว่างเข้าสู่การถ่ายทอดสดบอลยูโร

แน่นอนว่าเกิดศึกป้องกันตำแหน่งกับทรูวิชั่นส์ เจ้าตลาดเพย์ทีวีในขณะนั้น ต้องการให้สมาชิกสามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องฟรีทีวีในกล่องตัวเองได้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่า เป็นการออกอากาศแบบ Pass Through แต่แกรมมี่ฯยืนยันเป็นการ Re-Broadcast ที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ จึงเป็นการต่อสู้ของ 2 บริษัทใหญ่ และลามไปเป็นประเด็นทางสังคมในมุมของสิทธิการรับชมฟรีทีวี สู่การฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง คดีถูกตัดสินอย่างรวดเร็ว ศาลยึดประโยชน์ประเด็นลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์มีอำนาจตามกฎหมาย ผู้รับชมบอลยูโรฯจากช่องฟรีทีวีผ่านกล่องอื่นๆ จึงอยู่ในสภาพ “จอดำ” จนจบรายการ 

กสทช.จับจังหวะประเด็นร้อน ด้วยการชิงเสนอทางแก้ปัญหา “จอดำ”ในฟรีทีวีอย่างถาวร ด้วยการเร่งออกประกาศ Must Carry ซึ่งรับรู้ทั่วไปว่าประกาศแก้จอดำ เป็นประกาศฉบับที่จัดทำอย่างเร่งด่วนไม่ถึง 1 เดือนจนสำเร็จ รวมสาระสำคัญที่แฝงไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่ออุ้มช่องทีวีดิจิทัล ที่จะเกิดขึ้นในปี 2557 ให้ประชาชนมีช่องทางรับชมได้ทุกช่องทางตั้งแต่วันแรกของการออกอากาศ

สำหรับบรรดาช่องทีวีดิจิทัลแล้ว Must Carry คือประกาศที่ทรงพลัง ช่วยทีวีดิจิทัลช่องใหม่ๆ สู้กับทีวีช่องเดิมที่มีฐานผู้ชมสูงได้อย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ทีวีดิจิทัลช่องใหม่ๆ ไป Focus สร้างจุดเด่น คอนเทนต์ของช่องเพื่อดึงดูดวามสนใจของผู้ชมได้เต็มที่

อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาของ Must Carry มักจะเกิดขึ้นเสมอ ในการแข่งขันกีฬา รายการใหญ่ เป็นข้อถกเถียงระหว่าง กฎหมายลิขสิทธิ์และ Must Carry โดยเฉพาะเมื่อเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่  AIS Play และ TrueID  

เมื่อ AIS Play เป็นผู้รับใบอนุญาตกสทช. แต่ TrueID ระบุตัวเองว่าเป็น OTT ไม่ขอรับใบอนุญาต ในขณะที่กฎ Must Carry ระบุไว้ว่า หากเป็นผู้ประกอบการกล่องรับสัญญาณที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการจากกสทช.ต้องเผยแพร่คอนเทนต์ทั้งหมดไปช่องทางตัวเองด้วย

Must Have

ประกาศ Must Have หรือ ประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้ เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2556 

สาระสำคัญ: บรรจุรายการกีฬา 7 รายการที่คนไทยมีความเกี่ยวข้อง โดย 3 รายการหลักที่มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมแข่งขัน ซีเกมส เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ รวมกับ 3 รายการกีฬาคนพิการ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชี่ยนพราราเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์  และมีฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเสริมเข้ามาด้วย ในฐานะกีฬาที่คนไทยให้ความสนใจสูง

เช่นเดียวกับประกาศ Must Carry ประกาศ Must Have คืออีกหนึ่ง Privilege เพื่อช่วยช่องทีวีดิจิทัลให้มีคอนเทนต์ดึงดูดผู้ชม ให้สามารถต่อสู้กับทีวีดาวเทียมและเคเบิลในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ จากการต้องจ่ายค่าประมูลช่องทีวีดิจิทัลมาในราคาแพงนั่นเอง 

อาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมต้องรวมฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ทั้งๆที่เป็นรายการเดียวที่ประเทศไทยยังไม่เคยฝ่าด่านเข้าร่วมการแข่งขันได้เลย 

คำตอบมีอยู่จุดประสงค์ของการทำประกาศไว้แล้ว คือ Privileage ช่วยทีวีดิจิทัล แม้ว่าจะเป็นการเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดก็ตาม กลยุทธ์ของกสทช.ในช่วงเวลานั้นคือ ต้องทำทุกทางเพื่อให้ช่องทีวีดิจิทัลที่จะประมูลในปลายปี 2556 เปิดบริการในปี 2557 เกิดได้ด้วยคอนเทนต์ที่เรียกความสนใจจากผู้ชมสูง หากมีใครซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ก็ต้องมาออนแอร์ทางช่องทีวีดิจิทัลทุกแมตช์ 

แน่นอนว่าการพ่วงติดแบบนี้ ทำให้โอกาสการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาถ่ายทอดสดในประเทศเป็นไปได้ยาก เพราะโอกาสหารายได้คืน มีรายได้หลักจากการขายโฆษณาเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหากย้อนรอยประวัติการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในประเทศไทยแล้ว จะพบว่า ฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมกีฬาที่ผู้ปกครองประเทศแต่ละยุค มักจะนำมาใช้ในการจัดการมวลชน มีความเกี่ยวพันกับสถานการณ์ อำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยด้วยเช่นกัน เช่น เหตุการณ์ปี 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ยุคที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง มีเหตุการณ์ชุมชน ประท้วงรายวัน รัฐบาลในขณะนั้นไม่รอช้า จัดถ่ายทอดสดฟุตบอลนัดเปิดสนาม ซึ่งตรงกับวันที่มีนัดชุมนุมใหญ่ทางการเมือง สยบการชุมนุมได้อยู่หมัด

ตำนานการสั่งถ่ายทอดสดในไทย เริ่มในปี 1970 หรือ 2513 ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร แข่งที่ประเทศเม็กซิโก ทวีปอเมริกาเหนือ เป็นปีแรกที่ฟุตบอลโลกได้จัดขึ้นนอกทวีปอเมริกาใต้ และยุโรป เป็นปีแรกที่มีการถ่ายทอดสดทางทีวีทั่วโลกด้วยระบบสีแทนสีขาวดำ คนไทยได้รับชมการถ่ายทอดสดในนัดชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขันในปีนั้น ทีมชาติบราซิล ชนะ ทีมชาติอิตาลี 4-1 ในนัดชิงชนะเลิศ  

หลังจากนั้นเป็นต้นมา คนไทยก็เริ่มได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ในทุกๆ 4 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนโดยรัฐบาล ในรูปแบบโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีวีพูล ช่วงแรกเป็นถ่ายทอดสดแบบไม่กี่แมชต์สำคัญ พัฒนามาครบทุกแมตช์ในปี 1990  

จนมาเป็นรูปแบบภาคเอกชนดำเนินการอย่างเต็มตัวในปี 2002 ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 17  ที่เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ โดยมีบริษัททศภาค ของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ หรือช้าง เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ที่ได้ดำเนินการแบบธุรกิจเต็มรูปแบบหลังจากหมดยุคทศภาค RS  ก็เข้ามาเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ของปี 2010 และ 2014 พร้อมๆกับการที่กสทช. ได้ออกระเบียบ Must Have 

สำหรับภาคเอกชนแล้ว หลายคนมองว่าประกาศ Must Have นี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีใครไปซื้อลิขสิทธิ์มาออกอากาศในประเทศไทย เพราะเมื่อไปซื้อมาในราคาแพงแสนแพงแล้ว ก็ยังต้องถูกบังคับให้ออกอากาศทางฟรีทีวีเท่านั้น หมายความว่าจะสามารถหารายได้ชดเชยค่าลิขสิทธิ์จากค่าโฆษณาเท่านั้น ไม่สามารถเก็บเงินค่าสมาชิก ค่ารายเดือน จากประชาชนได้เลย อย่างไรก็ตามกฏ Must Have ได้เปิดทางให้ทำเรื่องขอผ่อนผันมาที่กสทช.ได้

ประกาศนี้ออกมาปี 2556 หรือปี 2013 ก่อนฟุตบอลโลก 2014 ทำให้มีปัญหากับ RS เจ้าของสิทธิ์ ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะออก มีเรื่องฟ้องร้องที่ศาล วันที่ 11 มิ.ย.2557 ศาลปกครองสั่งกสทช.ก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ RS

กว่าจะได้ข้อสรุปว่ากสทช.จะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กทปส.นั้น ระหว่างทางในการเจรจา เป็นครั้งแรกที่ภาครัฐเกิดไอเดีย จะระดมทุนจากภาคเอกชนในวงเงิน 250 ล้านบาทเพื่อช่วยอาร์เอส จ่ายค่าลิขสิทธิ์และเปิดให้ผู้ชมทั่วไปรับชมได้ เพราะรัฐบาลคสช.มีนโยบาย “คืนความสุข”ให้ประชาชน หลังจากเพิ่งผ่านช่วงรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

แต่กลับมีการจุดประกายจาก ผู้บริหารกสทช.ให้นำเงินจากกทปส. ซึ่งในขณะนั้นมีเงินสะสมถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทแทน จนกลายเป็นที่มาของวิ่งเข้าหาเงินกองทุน กทปส.กันอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในปีนั้นกสทช.ก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ RS เป็นวงเงิน 427 ล้านบาท

ไอเดียการระดมทุนจากภาคเอกชนเกิดขึ้นอย่างจริงจังในปี 2018 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในยุครุ่งเรือง ต้องการสานต่อนโยบาย “คืนความสุข” ให้ประชาชน จึงไม่ยากที่จะประสานงานบริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศ จนได้ 9 บริษัท บีทีเอส , ไทยเบฟเวอเรจ เครือเจริญโภคภัณฑ์ , กัลฟ์ เธนาคารกสิกรไทย , คิง เพาเวอร์ , ปตท. , บางจาก และ คาราบาว ในวงเงิน 1,141 ล้านบาท ซื้อและจัดการถ่ายทอดสดทั้งหมดใน 3 ช่องทีวีดิจิทัล ช่อง 5 ช่อง True4U และช่องอมรินทร์ทีวี

ในปีนี้เช่นเดียว ตามรอยนโยบาย “คืนความสุข” ให้กับประชาชนเป็นรอบที่ 3 แต่รอบนี้จัดมาเต็มๆให้การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท.ของบ กทปส. ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นรอบที่มีการ “เคลม”ว่า ราคาลิขสิทธิ์สูงมากเป็นพิเศษ ถึง 40 ล้านเหรียญ หรือราว 1,600 ล้านบาท สูงกว่าราคาประเทศเพื่อนบ้าน แถมยังให้ข่าวว่าเป็นเพราะ Must Have ทำให้ราคาสูง โดยที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกัน เพราะในตลาดในมีการเสนอขายผู้ประกอบการธุรกิจทีวีบางรายในราคาที่ต่ำกว่ามาก

การ “เคลม”ราคาลิขสิทธิ์ที่สูงเกินจริง จนดูน่าจะมีเบื้องหลัง ทั้งๆที่ตอนนี้เหลือผู้เจรจาซื้อลิขสิทธิ์เพียงรายเดียว แบบไม่มีคู่แข่ง ยิ่งใกล้ถึงวันแข่งขันราคาก็ยิ่งมีแนวโน้มลดลง ตามอุปสงค์อุทานของหลักเศรษฐศาสตร์

ล่าสุดราคาที่ยังไม่ปิดดีล กกท.แจ้งกสทช. อยู่ที่ 28 ล้านเหรียญ และบอร์ด กสทช.โหวตสรุปให้เงิน 600 ล้านบาท กกท.ประกาศไปเจรจากับภาคเอกชนหาเงินเพิ่มเติม จะปิดดีลกันที่ราคาเท่าไร มีส่วนต่างหรือไม่ กกท.ควรต้องชี้แจง

สำหรับกฎ Must Have Must Carry ที่ถูกหยิบเอามาอ้างนั้น ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ทีวีดิจิทัลเดินทางมากว่าครึ่งทาง เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว จากใบอนุญาต 15 ปี เวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน จากนโยบายที่ต้องคอยอุ้มทีวีดิจิทัล น่าจะถึงเวลาต้องปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกลตลาดเสียที อีกทั้งจะได้ไม่ต้องมีคนมาหาเหตุอ้างได้ว่า เพราะกฎเหล่านี้ทำให้ราคาแพงได้อีก

กรณี Must Have บอร์ด กสทช.ให้ไปแก้ไข นำเรื่องบอลโลกออกจากประกาศ จะได้ไม่ต้องมาอ้างเรื่องผูกประเด็น ของบจาก กสทช.ได้อีก ต่อไปก็จะเป็นเรื่องนโยบายรัฐบาลแต่ละยุค จะใช้ฟุตบอลโลกมาสร้างความนิยมอีกต่อไปไหม

แต่กรณี Must Carry ถึงเวลาหรือยัง ทีวีดิจิทัลแต่ละช่อง ต้องยืนให้ได้ด้วยขาตัวเอง สร้างคอนเทนต์มัดใจ ดึงดูดผู้ชม สร้างความนิยม จนทำให้บรรดาผู้ประกอบการกล่องรับสัญญาณทีวีต้องออนแอร์ให้ เพราะเมื่อไม่มีประกาศ Must Carry ทุกกล่องย่อมมีอิสระในการเลือกช่องทีวีดิจิทัลลงในช่องทางตัวเอง

กฎเกณฑ์ที่เหมาะสมช่วงหนึ่ง ก็อาจจะไม่เหมาะสมเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป กสทช.จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับแก้ เพื่อไม่ให้เป็นการชี้ช่องรวยให้กับ “แร้งกา” อีกต่อไป