

วันที่ 29 มิ.ย.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปจนถึง 31 ธ.ค.2564 ผ่านสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยส่วนมากเป็นมาตรการพักชำระหนี้ มาตรการลดดอกเบี้ย หรือมาตรการขยายเวลาชำระหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 30 มิ.ย.นี้
“ทั้ง 7 สถาบันการเงินของรัฐยังคงมีวงเงินเหลือสำหรับให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกรวม 104,000 ล้านบาทโดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ 7 แบงก์รัฐจะขยายไปถึงสิ้นปี 64 ซึ่งบางมาตรการ เช่น สินเชื่อ เป็นต้น อาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565”
ขณะที่ความคืบหน้าผลการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนก.พ. 2563 ผ่านสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 7.56 ล้านราย วงเงินรวม 3.64 ล้านล้านบาท ขณะนี้ยังมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการอีก 3.23 ล้านราย วงเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้รายย่อย 3.12 ล้านราย วงเงินรวม 1.18 ล้านล้านบาท และลูกหนี้ที่เป็นภาคธุรกิจ 21,310 ราย วงเงินรวม 87,948 ล้านบาท
ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ฟื้นฟูฯ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงินโครงการ 250,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 13,435 ราย วงเงินรวม 40,764 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินโครงการอีก 209,236 ล้านบาท ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงินโครงการ 100,000 ล้านบาท อนุมัติเชื่อไปแล้ว 7 ราย วงเงินรวม 922 ล้านบาท คงเหลือวงเงินอีก 99,078 ล้านบาท
“มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่ปล่อยสินเชื่อล่าสุดได้เพียง 7 ราย ถือว่ายังน้อย เนื่องจากเงื่อนไขตึงเกินไป จึงจะต้องหารือร่วมกับ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูฯ ของ ธปท.ยังปล่อยสินเชื่อได้ต่อเนื่อง แต่อาจไม่หวือหวา เนื่องจากผู้ประกอบการอาจมาขอสินเชื่อโดยตรงจากแบงก์รัฐมากกว่า จึงทำให้วงเงินของ ธปท. ปรับลดลงไม่มาก”
ขณะที่ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ทั้งระบบตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 3.5% ซึ่งขยับขึ้นไม่มาก เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด ธปท .ได้ขอให้สถาบันการเงินออกมาตรการดูแลลูกหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย และเพื่อไม่ให้กระทบกับเครดิตบูโร
“เรื่องเครดิตบูโรนั้น ได้มอบหมายให้แต่ละสถาบันการเงินดูแลอยู่ เพราะประชาชนเดือดร้อนกันเยอะ และตอนนี้ธนาคารออมสินก็มีโครงการมีที่ มีเงิน ที่ปล่อยสินเชื่อโดยไม่ได้ดูเครดิตบูโรอยู่ ส่วนเรื่องการลดช่องว่างของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้นั้น ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในอัตราสูงนั้น จะต้องหารือกับธปท.อีกครั้งและจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด”