ร้านค้าแห่ตุน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เก็งกำไรราคาใหม่



  • “มาม่า”เตรียมผลิตเพิ่มวันละ 6 แสนชิ้น
  • เพิ่มส่งออกเป็นร้อยละ 40
  • เตรียมเจาะตลาดจีน-ฟื้นซาอุดีอาระเบีย

วันที่ 20 สิงหาคม 2565 นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งและปลีกไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทางร้านค้าทั้งรายใหญ่และรายย่อย กำลังรอลุ้นผลการอนุมัติปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หลัง 5 บริษัท เป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ยี่ห้อ ได้แก่ มาม่า ไวไว ยำยำ นิสชิน ซื่อสัตย์ ได้รวมตัวยื่นหนังสือต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขอขึ้นราคาอีก 2 บาท/ซอง จาก 6 บาท/ซอง เป็น 8 บาท/ซอง ซึ่งจากสถานการณ์คาดว่ากรมการค้าภายในจะไฟเขียวให้ขึ้น 1 บาท/ซอง เพราะการขึ้นราคา 2 บาท/ซอง เท่ากับปรับขึ้นไป 30% จะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยูกับการพิจารณาของภาครัฐ

หลังมีกระแสข่าวว่าจะมีการปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นอีก 1-2 บาท/ซอง ทางร้านค้ารายย่อยตื่นซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันมากขึ้น เก็บไว้เป็นสต็อก เพื่อจำหน่ายหลังรัฐมีการปรับราคาให้แล้ว จากเดิมคนเคยซื้อ 2 กล่อง จะซื้อ 4 กล่อง หรือ จาก 5 กล่อง ก็เป็น 10 กล่อง ส่วนสินค้าอื่นๆ ตอนนี้ทยอยขึ้นไปเกือบจะหมดแล้ว เหลือแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ยังรอลุ้นอยู่

fhkoนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า” กล่าวว่า บริษัทยังรอกรมการค้าภายในอนุมัติการปรับราคาขึ้นตามที่ยื่นเสนอไป ยังไม่รู้ว่าจะอนุมัติให้ตามที่ขอไป 2 บาท/ซองหรือไม่ และยังไม่รู้จะได้รับอนุมัติเมื่อไหร่ แต่ไม่ว่าบริษัทจะได้รับอนุมัติให้ขึ้นราคาหรือไม่ให้ขึ้นราคา ทางบริษัทจะปรับสัดส่วนการส่งออกเพิ่มอยู่แล้ว โดยที่ไม่ลดกำลังการผลิตแต่อย่างใด เพราะตลาดต่างประเทศเป็นตลาดเสรี ขณะที่ตลาดในประเทศมีข้อจำกัดเรื่องของราคาขาย

ครึ่งปีแรกยอดขายมาม่าในประเทศอยู่ที่ 5,200 ล้านบาท มีกำไรไม่ถึง 100 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 1.9จากยอดขาย ลดจากครึ่งปีแรกของปี2564 มีกำไรอยู่ที่ร้อยละ 12 จากยอดขาย ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 เครื่องใหญ่ แต่ยังไม่สามารถติดตั้งได้ เนื่องจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศได้ จึงชะลอแผนงานออกไป

อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายแล้ว ทางบริษัทจะกลับมาเดินหน้าขยายกำลังการผลิตให้ได้ตามแผนที่วางไว้ โดยขณะนี้ได้เริ่มการติดตั้งเครื่องจักรแล้วที่โรงงานผลิตจ.ระยองกับจ.ลำพูน มีกำหนดจะแล้วเสร็จเริ่มทดสอบระบบภายในเดือนธันวาคม 2565 และเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้ในเดือนมกราคม 2566

“ที่ผ่านมาเราก็ทยอยเพิ่มกำลังการผลิตมาตลอด แต่ยังไม่เต็มคาปาซิตี้ ตอนนี้เราผลิตอยู่ที่ร้อยละ 80 สำหรับการลงทุนในครั้งนี้เบื้องต้นจะเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกประมาณ 500,000-600,000 ชิ้น/วันหรือประมาณร้อยละ 10-15 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 6 ล้านชิ้น/วัน เพื่อเป็นการรองรับการส่งออกที่บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนการขายไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 25-30 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2566 เนื่องจากตลาดในประเทศมีข้อจำกัดไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นได้ตามต้นทุนจริง ขณะที่ตลาดต่างประเทศเป็นตลาดเสรี สามารถกำหนดราคาขายได้ตามต้นทุนจริง ซึ่งที่ผ่านมาเรากำหนดราคาขายที่ต่างประเทศได้มากกว่าในประเทศเกือบ 2 เท่าตัว ขึ้นอยู่กับจังหวะ และได้ปรับราคามาแล้ว 2-3 รอบ แต่กำไรก็ไม่ได้มากประมาณ 5% เท่านั้น ซึ่งเป็นปกติของการบริหารจัดการและปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจในช่วงเผชิญวิกฤตต้นทุนวัตถุดิบมีราคาสูง ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด “นายพันธ์กล่าว

แะลบริษัทมีแผนจะขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มใน 2 ส่วนหลัก คือ 1.กลุ่มตลาดเดิม เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป จะขยายช่องการจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้ามากขึ้น และ2.กลุ่มตลาดใหม่ เช่น แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง เช่น ประเทศอินเดีย หรือประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่บริษัทจะกลับมาฟื้นการทำตลาดอีกครั้งหลังเคยเข้าไปทำตลาดมาแล้วเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ขณะเดียวกันกำลังดูช่องทางที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนด้วยหลังจากจีนมีการสั่งระงับการซื้อสินค้าจากประเทศอื่น เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมากและเป็นตลาดใหญ่