เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ที่รัฐสภา การอภิปรายงบประมาณ ปี 2563 เข้าสู่การพิจารณามาตรา 31 งบประมาณของศาล โดย ส.ส.หลายคนอภิปรายขอตัดลดงบประมาณศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กมธ.เสียงข้างน้อย เสนอให้ตัดงบประมาณศาลรัฐธรรมนูญ ทิ้งทั้ง 100% หรือ 108,074,100 บาท เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกฎหมายที่รองรับการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่า ศาลทั้งหลายจะจัดตั้งได้โดย พ.ร.บ. ซึ่งทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารต่างมี พ.ร.บ.ของตัวเองรองรับ ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญที่ยังไม่มี พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญรองรับ เนื่องจากก่อนหน้านี้ปี 2557 ศาลรัฐธรรมนูญเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญต่อ ครม.แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือถึง ครม.ลงวันที่ 2 ก.พ.2559 ขอถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมา ทำให้ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจน ที่ผ่านมาเคยทำหนังสือสอบถามเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึง กมธ.เคยสอบถามเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเรื่องดังล่าว แต่ไม่ได้รับคำตอบชัดเจน เมื่อกระบวนการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญคลุมเครือจึงสมควรตัดงบประมาณทิ้งทั้งหมด
ด้าน นายปิยะบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตงบประมาณศาลรัฐธรรมนูญในส่วนการปรับปรุงบ้านพระยารัตนาธิเบศร์ เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ศาลรัฐธรรมนูญ วงเงิน 193 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่ทำการเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ ขอถามว่าเป็นหน้าที่อะไรของศาลรัฐธรรมนูญในการจัดการเรื่องทำพิพิธภัณฑ์ ทั้งที่กฎหมายระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดี ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นขอเสนอให้ตัดงบประมาณในส่วนนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณในการจัดอบรมหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย งบประมาณ 7.15 ล้านบาท มีผู้เข้าอบรม 55 คน เฉลี่ยตกหัวละ 130,000 บาท ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง เท่ากับเปิดโอกาสให้ตุลาการได้พบปะบุคคลเหล่านี้ผ่านการอบรมหลักสูตร จะรับประกันความเป็นอิสระในการตัดสินคดีได้อย่างไร จึงขอให้ตัดงบประมาณหลักสูตรดังกล่าวทิ้งทั้งหมด เพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญหาคอนเนกชั่นผ่านโครงการเหล่านี้
ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายการพิจารณา ร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เสนอคำแปรญัตติในมาตรา 31 ประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของศาล และมาตรา 32 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานองค์กรอิสระ และองค์กรอัยการโดยเสนอปรับลด 10% ทั้ง 2 มาตรา โดยได้ให้เหตุผลว่าตนเองไม่สนับสนุนการที่หน่วยงานของศาลและองค์กรอิสระ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จัดโครงการฝึกอบรมสัมนา หลักสูตรต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการในสังกัดร่วมฝึกอบรมกับภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความเสียหาย ขาดความเชื่อมั่น และขาดความศรัทธาในหมู่ประชาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ จัดหลักสูตร หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) ศาลยุติธรรม จัดหลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) คณะกรรมการเลือกตั้ง จัดหลักสูตร การพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จัดหลักสูตร นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดหลักสูตร การบริหารการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมภาครัฐร่วมเอกชน (บรอ.) ซึ่งองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้ภาคเอกชน นักธุรกิจ หรือบุคคลภายนอก เข้ามาร่วมหลักสูตร เพราะพื้นฐานของสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ การสร้างคอนเน็คชั่น ระหว่างผู้รักษากฎหมาย ผู้พิทักษ์ความยุติธรรม กับบุคคลทั่วไป สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดความเสียหายได้
แต่อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมที่จะสนับสนุนให้ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา หรือองค์กรอื่นใดที่ ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จัดหลักสูตรฝึกอบรม และเชิญบุคลากรของศาลหรือองค์กรอิสระ เข้าร่วมฝึกอบรมสัมนาในหลักสูตรต่างๆเหล่านี้ได้ เช่น หลักสูตร วปอ.ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตร วตท. (วิทยาลัยตลาดทุน) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลักสูตร วพน. (วิทยาลัยพลังงาน) หลักสูตร ปปร. (ประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง) ของสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตร มหานคร/ผู้นำเมือง ของกรุงเทพมหานคร ตนขอยืนยันว่า ไม่สนับสนุนให้องค์กรศาลหรือองค์กรอิสระจัดหลักสูตรฝึกอบรมที่มีบุคคลภายนอกมีส่วนร่วมด้วย ควรจะนำงบประมาณในโครงการจัดหลักสูตรต่างๆ นำไปใช้ในโครงการอื่นๆในภารกิจของศาลหรือองค์กรอิสระ จะเป็นประโยชน์มากกว่า
ด้าน นายวิเชียร ชวลิต กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ อยู่แล้ว แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับสภาฯในฐานะผู้จัดสรรงบประมาณ จะต้องพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งบัญญัติว่าหน่วยรับงบประมาณ คือหน่วยงานของรัฐที่ขอรับงบประมาณ หรือได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย รวมถึงสภากาชาดด้วย โดยมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ ระบุว่า หน่วยงานของรัฐ หมายความว่าหน่วยงานของรัฐสภา คือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ศาลยุติธรรม คือสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่หน่วยงานที่ขอรับงบประมาณ คือสำนักงานศาลรัฐธรมนูญ ซึ่งมี พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2542 และแก้ไขในปี 2562 รองรับ จึงถือว่าเรียนว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ