รถไฟฟ้าชมพู-เหลือง เตรียมทดสอบเดินรถเสมือนจริง ก.ย.นี้ เปิดบริการช่วงแรก ธ.ค. เก็บค่าโดยสาร 14-42 บาท ด้าน “คมนาคม” เร่งเช็กลิสต์เชื่อมขนส่งสาธารณะอำนวยความสะดวกประชาชน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรีว่า ภาพรวมการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการมีความคืบหน้ามาก โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คืบหน้า 91.70% ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู คืบหน้า 86.51% ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ โดยจะมีการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่เดือน ก.ย.65 เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้จะขอให้เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรีด้วย ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วงอย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.นี้
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ไม่สามารถเปิดให้บริการพร้อมกันได้ตลอดทั้งเส้นนั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ ขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตรถไฟฟ้า ยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงมีปัญหาผู้รับจ้างยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ จึงทำให้การดำเนินงานต่างๆ ต้องล่าช้าไปจากแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการครบตลอดเส้นทางทั้ง 2 สายได้ภายในกลางปี 66
นายสรพงศ์ กล่าวอีกว่า ในระยะแรกสายสีเหลือง จะเปิดให้บริการ ช่วงสถานีสำโรง ถึงสถานีพัฒนาการ และสายสีชมพู ช่วงสถานีมีนบุรี ถึงสถานีหลักสี่ สำหรับขบวนรถที่จะนำมาให้บริการนั้น ขณะนี้บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น บอมบาร์ดิเออร์ ทรานสปอร์เทชัน ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ผลิต ได้ส่งขบวนรถยี่ห้อ Bombardier รุ่น Innovia Monorail 300 จากประเทศจีนมาถึงประเทศไทยแล้ว 50 ขบวน 200 ตู้ แบ่งเป็น สายสีเหลือง 26 ขบวน 104 ตู้ และสายสีชมพู 24 ขบวน 96 ตู้ คาดว่าสายสีเหลืองจะได้รับมอบครบ 30 ขบวน 120 ตู้ และสายสีชมพู จะได้รับมอบครบ 42 ขบวน 168 ตู้ ภายในเดือน มิ.ย.65
นายสรพงศ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของค่าโดยสารนั้น จะคิดอัตราเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งตามเงื่อนไขในสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู กำหนดไว้แล้วว่า ต้องไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำอีก หากผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อมาจากรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีส้ม ส่วนรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ จะมีการเจรจา เพื่อให้ยกเว้นค่าแรกเข้า และใช้ตั๋วร่วมกันได้ อาทิ สายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงคมนาคม กำลังเร่งเช็กลิสต์การเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะระบบต่างๆ อาทิ รถเมล์ เพื่อปรับเส้นทางเดินรถให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้