คมนาคมสั่งตั้งคณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์รื้อแก้ไขสัญญาเช่าที่ดินเจ้าคุณปู่ทั่วประเทศ หวังปั้นรายได้เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ 6,042 สัญญา รายได้แค่ 2,858 ล้านบาท/ปี ให้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 10% หวังอุ้มรถไฟหนีพ้นขาดทุนแบบเบ็ดเสร็จ เดินหน้าต่ออย่างยั่งยืน พร้อมดันศูนย์บริหารสินทรัพย์มาอยู่หน่วยเดียวจากเดิมกระจายแฝงอยู่ทั้งฝ่ายการเดินรถ-โยธา ที่บริหารจัดการสัญญาเขตทางรถไฟทั่วประเทศเอง
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษากำหนดยุทธศาสตร์การบริหารพื้นที่และติดตามกำกับนโยบายการจัดการรายได้จากทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์-อสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เปิดเผยว่า จากที่ได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดกรอบการจัดการทรัพย์สินเพื่อสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นนั้นพบว่า ปัจจุบัน รฟท.มีสัญญาที่เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ สังหาริมทรัพย์ และ อสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ณ.วันที่ 30 เม.ย.63 ในพื้นที่ กว่า 32,000 ไร่ กับ สำนักบริหารทรัพย์สิน รฟท.กว่า 6,042 สัญญา แบ่งเป็นสัญญาเช่าอาคารจำนวน 3,106 สัญญา ,สัญญาเช่าที่ดินจำนวน 2,936 สัญญา
ซึ่งจากสัญญาทั้งหมดที่มีทำให้ รฟท.มีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 2,858 ล้านบาท/ปี ดังนั้นเพื่อให้การบริหารทรัพย์สินของรฟท.เกิดประสิทธิภาพแก่ รฟท.มากขึ้นทาง คณะทำงานฯจะเข้ามาดำเนินการจัดระเบียบและกำหนดกรอบของการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมั่นใจว่าหากดำเนินการสำเร็จจะสามารถสร้างรายได้ในส่วนนี้ให้กับ รฟท.เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 10%
นอกจากนั้นได้ให้ รฟท.ไปรวบรวมสัญญาของพื้นที่ บริเวณ อาร์ซีเอ โดยพื้นที่ดังกล่าวให้ทำแผนปฎิบัติการใช้พื้นที่,บริเวณตลาดนัดจตุจักร 3แปลง บริเวณ ตลาดขายปลาจำนวน 5 ไร่ ,ตลาดศรีสมรักษ์ จำกัด จำนวน 5 ไร่ รวมถึงพื้นที่ตรงหัวมุม ตลาดเพื่อองค์การค้าเพื่อเกษตรกร (อตก.) จำนวน 3ไร่ ,พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 277 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะต้องเน่งดำเนินการเพื่อสร้างรายได้ ,พื้นที่บริเวณรัชดาจำนวน 124 แปลง
ดังนั้นในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 15 มิ.ย. นี้ นอกจากได้ให้ รฟท.ไปรวบรวมข้อมูลพื้นที่ในเขต กทม.ดังกล่าวแล้วยังได้ให้ รฟท.ไปดูรวบรวมพื้นที่ และ สัญญาที่เกี่ยวข้องกับแปลงอสังหาฯทั่วประเทศทั้งหมดด้วยว่ามีจำนวนแปลงทีี่ใช้ประโยชน์ ,สถานะของสัญญา ,สถานะเวลาของการให้เช่า ,การบุกรุกพื้นที่มีที่ไหนบ้าง รวมถึงสถานะที่มีการใช้ประโยชน์โดยไม่มีการจ่ายค่าเช่าแก่ รฟท. อย่างไรบ้าง เพื่อมาประกอบในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้คณะทำงานฯชุดนี้สามารถกำหนดกรอบการดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ในการสร้างมูลค่าที่มีการทำสัญญาที่มีอยู่ให้กับ รฟท.เพิ่มขึ้น เพื่อให้ รฟท.สามารถนำรายได้จากพื้นที่ที่สร้างรายได้มาบริหารจัดการรฟท.ให้อยุ่ได้แบบยั่งยืนต่อไป ในอนาคต และไม่เป็นภาระกับรัฐบาลต่อไป
นายสรพงศ์ กล่าวว่า ซึ่งจากการประชุมในเบื้องต้นพบว่า รฟท.มีข้อจำกัดของระเบียบ ข้อกฎหมาย ในวิธีการเช่าที่ดินและ อสังหาริมทรัพย์ของกฎหมายของรฟท. โดยเฉพาะ ฉบับ พ.ศ.2484 และ ฉบับ พ.ศ.2544 ที่ปฎิบัติมาไม่สอดคล้องกับกฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งข้อจำกัดที่เห็นชัดคือจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการที่ยาวนาน เช่น การเช่าที่ดินแบบไม่ต้องประมูลจะต้องใช้เวลาในการอนุมัติกว่า 101 วัน
ส่วนประเภทการเช่าแบบประมูล จะมีขั้นตอนระเบียบปฎิบัติการ 12 ขั้นตอน ใช้เวลา การอนุมัติกว่า 146 วัน ส่วนประเภทโครงการพัฒนา เชิญชวนประมูลโครงการ มีขั้นตอนกว่า 15 ขั้นตอน ใช้เวลาปนุมัติไม่น้อยกว่า 212 วันซึ่งจากข้อจำกัดต่างๆนี้ทำให้เห็นว่ากว่าจะอนุมัติ และมีรายได้กลับมาที่ รฟท.ต้องใช้ระยะเวลานาน
ขณะเดียวกันยังพบปัญหาอีกว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารทรัพย์สินทั้งที่ดิน และ อสังหาริมทรัพย์ของ รฟท.มีถึง 3 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย สำนักบริหารทรัพย์สิน ,ฝ่ายการเดินรถ ซึ่งจะเป็นคนดูแลทรัพย์สินตามเขตทางรถไฟทั่วประเทศ และ ฝ่ายการช่างโยธา ดังนั้นทางคณะทำงานฯจึงเห็นว่า ควรที่จะมีการจัดระเบียบหน่วยงานที่จะทำหน้าที่บริหารทรัพย์สิน ให้ศูนย์เดียว เพื่อให้รวบรวมสัญญาที่เอกชนทั้งรายย่อย และ รายใหญ่ ที่ทำสัญญากับ รฟท.อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อให้มีการตรวจสอบสัญญา และรายได้ที่เข้ามาเกิดความชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนั้นในส่วนของการประเมินราคาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ของ รฟท.นั้น เห็นควรที่จะให้ รฟท. หาวิธีประเมินราคาที่ดิน แม้ว่าแปลงอสังหาฯของรฟท.จะไม่มีโฉนดที่ดิน แต่สามารถนำราคาประเมินที่ดินจากกรมธนารักษ์มาเทียบได้ และนำมาเปรียบเทียบกับที่ดิน หรืออสังหาฯข้างเคียงของเอกชน ซึ่งจะทำให้ รฟท.มีความคล่องตัวในการปฎิบัติมากขึ้น ขณะเดียวกัน ให้ รฟท.ไปจัดทำแผนปฎิบัติการโดยให้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ขณะเดียวกันหากแปลงอสังหามีสิ่งปลูกสร้าง ควรจ้างบริษัท หรือ ธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อให้มีความถูกต้องแม่นยำ