ม.หอการค้าไทยชี้เศรษฐกิจส่งสัญญาณ “เงินฝืด”



ม.หอการค้าไทยชี้เศรษฐกิจส่งสัญญาณ “เงินฝืด”การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังไม่คึกคัก เป็นลักษณะซึมทั้งประเทศ

  • กำลังซื้อทั่วประเทศซึมหนักคนไทยระวังใช้จ่าย
  • เหตุกังวลสารพัดทั้งการเมือง ค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน
  • จี้รัฐบาลร่งออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อด่วนที่สุด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพ.ย.66 ว่า การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังไม่คึกคัก เป็นลักษณะซึมทั้งประเทศ เพราะผู้กังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังสูง หนี้ครัวเรือนที่สูง ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงชะลอตัวลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต และรายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง


ทั้งนี้ ยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจมีความน่ากังวล เพราะดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ที่สำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจ เดือนพ.ย.66 ลดลงเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 57.4 จาก 58.3 ในเดือนต.ค.66 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแม้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง ผู้บริโภคระวังการจับจ่ายใช้สอย ดัชนีรายได้ในอนาคตยังไม่ดี เป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจซึม มีหลายอย่างกำลังบ่งชี้ว่า เงินกำลังฝืด รัฐต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วที่สุดในช่วงปลายปี 66 และไตรมาส 1 ปี 67


“ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ ศูนย์ฯยังไม่ปรับใหม่ ยังคาดการณ์อยู่ที่ 3-3.5% เราก็ประเมินไว้ที่ 3% ต้นๆ หากการลงทุน การท่องเที่ยวเป็นไปตามคาด และหากการเบิกจ่ายของรัฐที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 67 สามารถเดินไปตามกรอบได้ ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจเราโตกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนปีหน้า ยังไม่ได้ประเมินจะโตเท่าไร”


สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพ.ย.66 พบว่า ปรับตัวจาก 60.2 ในเดือนต.ค.66 มาอยู่ที่ 60.9 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 45 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 63 ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ดีขึ้นจาก 44.0 มาอยู่ที่ 44.6 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต ดีขึ้นจาก 68.0 มาอยู่ที่ 68.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 55.1 จาก 54.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ 57.6 จาก 57.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 69.9 จาก 69.2 โดยทั้งหมดดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังจัดตั้งรัฐบาล