ม.หอการค้าไทยคาดจีดีพีไทยปี 66 โต 3.6%



  • ท่องเที่ยวกลับมาเป็นพระเอกขับเคลื่อนหลัก
  • คาดนักท่องเที่ยวเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 22 ล้านคน
  • ส่งออกกลายเป็นพระรองชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยว่า ศูนย์คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 66 จะขยายตัวได้ 3.6% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.4% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.2% การส่งออก ขยายตัว 1.2% การนำเข้า ขยายตัว 2.2%  อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 3.0% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย 22 ล้านคน 

โดยมีปัจจัยบวก คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้นและปรับเป็นโรคประจำถิ่น, การกลับมาขอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, การใช้จ่ายของภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน, รายได้ของเกษตรกรยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 66  

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น, ธนาคารกลางหลายประเทศ ถูกกดดันให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะถดถอย, ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน, ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก, ความไม่แน่นอนของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้การเข้าถึงสินค้าทุนลดลง ส่งผลต่อการค้าโลก  

“ปี 66 การส่งออกที่เคยเป็นพระเอก จะกลายเป็นเพียงตัวประกอบ เพราะเริ่มชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ปี 65 ต่อเนื่องไปปีหน้า ขณะที่การบริโภคที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างโดดเด่น จะเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามา 22-24 ล้านคน สร้างเม็ดเงิน 1.1 ล้านล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยง คือ 1.สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยังไม่มีสัญญาณคลี่คลายลง ทำให้ราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้า และสินแร่หายาก แต่ยังเชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทะลุถึง 100 เหรียญฯต่อบาร์เรลอีก 2.หากจีนผ่อนคลายนโยบายซีโร่โควิดต่อเนื่องไปถึงไตรมาส2 ปีหน้า จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนท่องเที่ยวนอกประเทศ ส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทย แต่หากเหตุการณ์พลิกผันตรงกันข้ามก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย  

3.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ปัญหาช่องแคบไต้หวัน  การย้ายฐานการผลิตจากจีนไปประเทศอื่นๆ ความขัดแย้งอื่นที่อาจจะมีขึ้นในปีหน้า 4.การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ที่เกิดความรุนแรงขึ้น และเกิดภัยพิบัติถี่มากขึ้น ส่งผลต่อสินค้าเกษตร และ5.การเมืองไทยที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้