- จีนยังไม่ยืนยันใช้เป็นมาตรฐานการรักษา
- มีผู้ป่วยในจีนเพิ่มเป็น20,400คน
- เสียชีวิตแล้ว425ราย
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกรียงศักดิ์ อติพรวณิช นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.ราชวิถี เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงดังกล่าวเป็นผู้ป่วยหญิงชาวจีนอายุ 70 กว่าปี ซึ่งมาจากอู่ฮั่น โดยมีโรคความดันโลหิตสูง และอาจมีโรคหัวใจร่วมด้วย ซึ่งได้รับการรักษาที่ รพ.หัวหินมาก่อน ซึ่งขณะที่อยู่ รพ.หัวหิน ก็ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ตัว ซึ่งมีรายงานในต่างประเทศว่าได้ผล
โดยให้มาประมาณ 2 วัน แต่เมื่ออาการไม่ดีขึ้น ก็ได้มีการส่งตัวมารับการรักษาต่อที่ รพ.ราชวิถี เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2563 ซึ่ง รพ.ราชวิถีได้ให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โอเซลทามิเวียร์ ซึ่งผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และเรามียาอยู่แล้ว แต่ใช้ในขนาดที่สูง เพราะคนไข้มีอาการหนัก สาเหตุที่เลือกใช้เพราะมีรายงานว่า ยาตัวนี้ได้ผลในคนไข้โรคเมอร์ส ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาในกลุ่มเดียวกัน จึงตัดสินใจว่า คนไข้อาการหนักต้องรักษาคนไข้ไว้ก่อน และคอยระวังผลข้างเคียง จึงตัดสินใจให้ยาไปตั้งแต่วันแรกที่มาถึงและเฝ้าดูอาการทุกวันตลอดเวลา
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ยาที่ให้เป็นยา 2 กลุ่ม 3 ตัว คือ กลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ คือ ยาโลพินาเวียร์ 200 มิลลิกรัม คูณ4 เป็น 800 มิลลิกรัมต่อวัน และยาริโทนาเวียร์ 50 มิลลิกรัม คูณ 4 เป็น 200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งยาทั้งสองตัวนี้รวมอยู่ในเม็ดเดียวกัน และกลุ่มยารักษาไข้หวัดใหญ่ คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ 300 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับวันแรกที่มาอาการหนักมาก ค่าการอักเสบในเลือดก็สูงขึ้นทุกวัน ถึงขั้นต้องตัดสินใจใส่ท่อช่วยหายใจ
แต่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีเครื่องช่วยหายใจโดยไม่ต้องใส่ท่อ ก็ตัดสินใจให้ใช้เครื่องดังกล่าว และร่วมกับรีบให้ยารักษาอย่างรวดเร็ว ปรากฏว่า ภายในไม่ถึง 12 ชั่วโมง จากคนไข้ที่ดูลุกไม่ได้อ่อนเพลีย ขึ้นมานั่งได้ ไข้ลง ส่วนตอนนี้คนไข้ยังไม่หายและดีขึ้นอย่างชัดเจน และผลตรวจจากการรับการรักษามา 10 กว่าวัน ผลตรวจเป็นบวกมาตลอดไม่เคยลดเลย แต่พอได้รับยาสูตรนี้ที่ใช้ ผลเป็นผลภายใน 48 ชั่วโมงเป็นผลแล็บที่ยืนยันโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อถามว่าจากการรักษา 1 ราย ตอนนี้พอจะสรุปอะไรเกี่ยวกับการรักษาได้บ้าง นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า แนวโน้มดีขึ้นแต่เรายังต้องรอการศึกษาที่จะบอกว่าการรักษานี้เป็นมาตรฐานการรักษา ซึ่งปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีมาตรฐานในการรักษา เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ฉะนั้นเมื่อมีใครรายงานว่าแบบไหนได้ผลก็ต้องติดตาม เรามีการศึกษาและเปิดดูว่ามีรายงานเรื่องการรักษาใหม่ๆ ขึ้นมาทุกวันหรือไม่ ถ้ามีเราไม่หวง เราเอามารักษาคนไทยอยู่แล้ว
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากเคสนี้เป็นเคสรีพอร์ต เป็นกรณีศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วแพทย์ได้ใช้วิธีการนี้รักษาจำนวน 3 ราย และทั้ง 3 ราย โดยมี 1 รายที่มีอาการแพ้ยารักษาไข้หวัดใหญ่จึงไม่ได้ให้ต่อส่วนอีก 2 รายอาการดีขึ้น ซึ่งในวันที่ 3 ก.พ. จะมีการประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ โดยเอาเคสนี้มาพิจารณาถึงแนวทางการรักษาว่า หากอาการไม่หนักก็ใช้แนวทางการรักษาตามปกติ แต่หากอาการรุนแรงก็มียาสูตรนี้เป็นทางเลือก โดยจะต้องมีการเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามด็อกเตอร์ แอนโทนี่ ฟรุตซี่(Antony Fuaci) ผู้อำนวยการสถาบันด้านสุขภาพ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ที่ชัดเจน
ขณะที่โรงพยาบาลในกรุงปักกิ่งระบุว่า ปัจจุบันการรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัส HIV และยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ถูกใช้ในการดูแลผู้ป่วยจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อยู่แล้วในจีน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน
ในขณะที่มีรายงานล่าสุดวันนี้ 4 ก.พ. มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในจีน 20,400 คน เพิ่มขึ้น 3,235 คน จากวันจันทร์ที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 425 ราย