“พิพัฒน์”ปิดระบบลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม



‘พิพัฒน์’ ปิดระบบลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรก รวมกว่า 9.49 แสนราย เกือบถึงเป้าล้านคน เลขาสปส. เผยตั้งงบฯ ไว้ 207 ล้านบาท แต่คาดว่าใช้ไม่ถึง

  • เกือบถึงเป้าล้านคน
  • เลขาสปส. เผยตั้งงบฯ ไว้ 207 ล้านบาท
  • แต่คาดว่าใช้ไม่ถึง

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม ประกาศให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เพื่อหาผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน เพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งนายจ้าง ที่จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคม จะมีโอกาสเข้าคูหาเลือกตัวแทนในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนและบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต ของนายจ้างและผู้ประกันตนให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เปิดระบบให้นายจ้างและผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 23.59 น. มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 945,609 ราย ฝ่ายนายจ้าง จำนวน 4,209 ราย รวมจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 949,818 ราย สำหรับผู้สมัครผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มีจำนวน 247 ราย และผู้สมัครผู้แทนฝ่ายนายจ้าง จำนวน 69 ราย

ทั้งนี้จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 และประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 1 ธันวาคมทางเว็บไซต์ www.sso.go.th และที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ทั่วประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในเวลา 08.30 – 16.30 น. (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)

ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมประจำจังหวัด ซึ่งจะมีผู้ว่าแต่ละจังหวัดเป็นประธาน ร่วมกับ 5 เสือแรงงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, กรมการจัดหางาน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ สำนักงานประกันสังคม รวมถึงผู้แทนจากทุกภาคส่วนมาร่วมกัน คาดว่าสัปดาห์หน้านี้จะทราบสถานที่คูหาเลือกตั้ง ที่ผู้ลงทะเบียนจะต้องไปใช้สิทธิในคูหาวันที่ 24 ธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวตนคิดว่าผู้ไปใช้สิทธิอาจจะไม่ถึง 9.4 แสนรายตามที่ลงทะเบียน เนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ หรืออาจจะติดธุระอื่นๆ

“ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรก เราก็จะถอดบทเรียนเพื่อเตรียมตัวในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า จะต้องมีการดำเนินการล่วงหน้าหลายเดือน พร้อมกับต้องสร้างการรับรู้ ซึ่งงบประมาณในการเลือกตั้งฯ คำนวณจากสิทธิมีสิทธิเลือกตั้ง 12 ล้านคน อยู่ที่ 207 ล้านบาท แต่ 90% ของงบฯ จะถูกไปใช้เป็นค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ประหน่วยเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำจุดเลือกตั้ง ส่วนงบฯ อื่นไม่ได้ใช้อะไร ทั้งนี้ จะรู้ว่าใช้งบฯ ไปเท่าไหร่ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว” นายบุญสงค์กล่าว