“พาณิชย์”ไม่กังวลนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ​ 450 บาท



  • ยืนยันมีมาตรการติดตามต้นทุนใกล้ชิด
  • เคาะประกันรายได้ข้าวงวดก่อนสุดท้าย
  • ข้าวไทยส่งออกได้แล้ว 3.2 ล้านตัน

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงมาตรการดูแลราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ กรณีรัฐบาลใหม่มีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท ว่า ปัจจุบันกรมการค้าภายในมีมาตรการในการติดตามต้นทุนราคาสินค้าต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งปัจจัยค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

“กรมไม่ได้กังวลกับนโยบายการขึ้นค่าแรงของรัฐบาลใหม่ เพราะกรมก็มีนโยบายและแนวทางการดูแลราคาสินค้า โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านต้นทุนอยู่แล้ว ซึ่งการจะพิจารณาปรับราคาสินค้าจะต้องดูปัจจัยให้ครบทุกตัวที่มีผลต่อต้นทุน ในแต่ละรายการสินค้าบางรายการต้นทุนค่าแรงอาจขึ้น แต่ต้นทุนค่าไฟฟ้า หรือน้ำมัน อาจจะปรับลดลง ซึ่งก็ต้องพิจารณาภาพรวมของต้นทุนก่อน โดยขณะนี้น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งได้ปรับราคาลดลงแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค. มาอยู่ที่ 32 บาท/ลิตร ขณะที่ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นทำให้ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบถูกลง”

นอกจากมาตรการติดตามต้นทุนแล้ว กรมยังมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพอื่นๆ ที่ทำอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการพาณิชย์ลดราคา และโครงการธงฟ้า รวมทั้งมีการใช้มาตรการขอความร่วมมือจาก ผู้ประกอบการให้ช่วยตรึงราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมยังไม่ได้มีการพิจารณาอนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มเติม แม้ว่าจะมีการเสนอขอปรับราคา อาทิ กลุ่มน้ำอัดลม และขนมขบเคี้ยว
          

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการงวดที่ 32 แล้ว ซึ่งเป็นการประกาศราคาเกณฑ์กลางงวดก่อนสุดท้าย โดยในครั้งนี้มีเพียงข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ชนิดเดียวที่ยังได้รับการชดเชยส่วนต่าง อยู่ที่ตันละ 313.05 บาท ซึ่งมีราคาเกณฑ์กลางตันละ 13,686.95 บาท

ในขณะที่ข้าวชนิดอื่นๆ มีราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าราคาประกันทั้งสิ้นจึงไม่ต้องชดเชย โดยเกษตรกรจะได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 24 พ.ค.นี้ และมีเกษตรกรได้รับเงินชดเชยในงวดนี้ 681 ครัวเรือน

ส่วนสถานการณ์การส่งออกข้าวระหว่างเดือนม.ค.-16 พ.ค.2566 สามารถส่งออกได้แล้ว 3.2 ล้านตัน และมั่นใจว่าปีนี้จะสามารถ ส่งออกได้ 8 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกยังมีสูง และราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแข่งขันได้ โดยราคาเฉลี่ยของข้าวแต่ละชนิดถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะอยู่ในเกณฑ์ดีจนรัฐบาลประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ไปได้มาก อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะมีการจ่ายเงินประกันรายได้ให้กับเกษตรกรงวดที่ 33 เป็นงวดสุดท้ายก่อนจะสิ้นสุดโครงการ